คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2540 ซึ่งจำเลยได้เรียกโจทก์มาทำบันทึกข้อตกลงยินยอมรับเงินค่าทดแทนที่ดินเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 ฝ่ายจำเลยควรจะดำเนินการสำรวจอย่างจริงจังว่าสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 59/1 ถูกเวนคืนและต้องรื้อถอนในส่วนใดบ้าง ควรได้รับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างจำนวนเท่าใดแล้วกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในเวลาเดียวกันหรือเวลาใกล้เคียงกับที่ดำเนินการกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน แต่หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ ปล่อยเวลาในล่วงเลยไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2542 จึงได้ประมาณราคาค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ถูกเวนคืนให้โจทก์และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จึงนำการประมาณราคาดังกล่าวมากำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2543 โดยแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้วกว่า 1 ปี ทำให้โจทก์เข้าใจผิดในตอนแรกว่าฝ่ายจำเลยไม่กำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ ประกอบกับตัวบ้านเลขที่ 59/1 ประมาณ 1 ใน 3 อยู่ในแนวเขตที่จะต้องเวนคืน หากให้รื้อถอนเฉพาะส่วน โครงสร้างของบ้านส่วนที่มิได้ถูกรื้อถอนจะตั้งอยู่ติดถนนสาธารณะโดยไม่มีพื้นที่ว่างระหว่างตัวบ้านกับรั้วบ้านดังเช่นสภาพของเดิมที่มีระยะห่างกันประมาณ 5 เมตร ทั้งยังทำให้พื้นที่ใช้สอยของบ้านส่วนที่เหลือจากการถูกรื้อถอนคับแคบลงไม่อาจใช้ประโยชน์ตามสภาพเดิมได้ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเวนคืนบ้านที่เหลืออยู่ได้ และโจทก์ก็ได้ร้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างทั้งหลังก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2541 แล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการให้ การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2541 ขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลังจำนวน 15,000,000 บาท อันเป็นการขอให้เวนคืนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 59/1 ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนด้วย พอถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 19 แล้ว เมื่อรัฐมนตรีฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน จึงถือว่ารัฐมนตรีฯ ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเวนคืนตามคำร้องขอของโจทก์แล้ว ตามความตอนท้ายวรรคสองของมาตรา 19 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 59/1 ทั้งหลังจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 18,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 10,686,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเป็นเงิน 13,375,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขอเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 59/1 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อประมาณปลายปี 2538 พยานได้เข้าไปสำรวจสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทและทำแผนผังของสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนไว้ และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2540 ซึ่งจำเลยได้เรียกโจทก์ทั้งสองมาทำบันทึกข้อตกลงยินยอมรับเงินค่าทดแทนที่ดินเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 ฝ่ายจำเลยควรจะดำเนินการสำรวจอย่างจริงจังว่า สิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 59/1 ถูกเวนคืนและต้องรื้อถอนในส่วนใดบ้าง ควรได้รับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างจำนวนเท่าใดแล้วกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในเวลาเดียวกันหรือเวลาใกล้เคียงกับที่ดำเนินการกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืน แต่หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2542 จึงได้ประมาณราคาค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองและคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯจึงนำการประมาณราคาดังกล่าวมากำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2543 โดยแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบภายหลังจากโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีแล้วกว่า 1 ปี ทำให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจผิดในตอนแรกว่า ฝ่ายจำเลยไม่กำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสองดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวไว้ในสำเนาหนังสืออุทธรณ์จำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินฯ ประกอบกับตัวบ้านเลขที่ 59/1 ประมาณ 1 ใน 3 อยู่ในแนวเขตที่จะต้องเวนคืน หากให้รื้อถอนเฉพาะส่วนนี้แล้ว โครงสร้างของบ้านส่วนที่มิได้ถูกรื้อถอนจะตั้งอยู่ติดถนนสาธารณะโดยไม่มีพื้นที่ว่างระหว่างตัวบ้านกับรั้วบ้านดังเช่นสภาพของเดิมที่มีระยะห่างกันประมาณ 5 เมตร ทั้งยังทำให้พื้นที่ใช้สอยของบ้านส่วนที่เหลือจากการถูกรื้อถอนคับแคบลงไม่อาจใช้ประโยชน์ตามสภาพเดิมได้ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า มีเหตุอันควรที่โจทก์ทั้งสองจะขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเวนคืนบ้านในส่วนที่เหลืออยู่ได้ และโจทก์ทั้งสองได้ร้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองทั้งหลังก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2541 แล้วแต่จำเลยไม่ดำเนินการให้ การที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2541 ขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินและกำหนดเงินค่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหลังจำนวน 15,000,000 บาท อันเป็นการขอให้เวนคืนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 59/1 ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนด้วย พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 19 แล้ว เมื่อรัฐมนตรีฯมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน จึงถือว่ารัฐมนตรีฯให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเวนคืนตามคำร้องขอของโจทก์ทั้งสองแล้ว ตามความตอนท้ายวรรคสองของมาตรา 19 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 59/1 ทั้งหลังจากจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำแก้ฎีกาขอเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านทั้งหลังเป็นเงิน 15,000,000 บาท นั้น โจทก์ทั้งสองต้องทำเป็นฎีกามิใช่กล่าวไว้ในคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองรวม11,875,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share