แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๕๓
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๕)
ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวปนัดดา ลัมพสาระ ที่ ๑ นายกฤษณ์ เลอเลิศวณิชย์ ที่ ๒ นายระพีพงศ์ จรมาศ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๗๙๓/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามเป็นพนักงานโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานบัญชีและข้อมูล ฝ่ายกฎหมาย มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานบัญชีและข้อมูล จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานบัญชีและข้อมูล ฝ่ายกฎหมาย มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานบัญชีและข้อมูลของฝ่ายกฎหมายทั้งหมด เมื่อประมาณวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒ นางปิยะนุช รุ่งทรรศนะกุล พนักงานบัญชี ฝ่ายกฎหมาย อาศัยตำแหน่งหน้าที่รับเงินค่าธรรมเนียมศาล และค่าใช้จ่ายที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีฟ้องเงินกู้และบังคับจำนองของโจทก์ จำนวน ๑๖๙ ราย นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒,๐๑๗,๗๔๓ บาท แล้วเบียดบังยักยอกนำเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยทุจริต โจทก์มีคำสั่งไล่ออก และแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญา โจทก์แจ้งผลการสอบสวนตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางแพ่งว่า นางปิยะนุชกระทำการทุจริตยักยอกเงินไปโดยไม่มีพนักงานคนใดเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่กระทรวงการคลังมีความเห็นว่า จำเลยทั้งสามไม่ควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานบัญชีอย่างเคร่งครัดทำให้นางปิยะนุชยักยอกเงินไป เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามต้องรับผิด โดยจำเลยที่ ๑ รับผิดจำนวน ๑,๔๑๒,๔๒๐.๑๐ บาท จำเลยที่ ๒ รับผิดจำนวน ๑๓,๔๗๐ บาท จำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดจำนวน ๕๙๑,๘๕๒.๙๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญาจ้างและละเมิดตามส่วนที่ต้องรับผิดดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ เนื่องจากได้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ศาลอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า มิได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด โจทก์ไม่ได้วางระเบียบกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พนักงาน ในตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดถือปฏิบัติให้เป็นลายลักษณ์อักษร โจทก์จึงมีส่วนผิด โจทก์ไม่ดำเนินคดีทางแพ่งกับผู้กระทำผิด โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้ประพฤติผิดสัญญาจ้างแรงงาน และไม่ได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มิใช่เป็นคดีแรงงาน สิทธิการฟ้องคดีของโจทก์อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามฟ้อง ปรากฏว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่อันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามไม่ควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานบัญชีอย่างเคร่งครัด ทำให้พนักงานบัญชียักยอกเงินไป โจทก์จึงได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มิได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับพนักงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในบังคับบัญชาเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๙๖ อันอยู่ในความหมายเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์จะอยู่ในความหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อขอให้รับผิดในผลแห่งละเมิดด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จะเป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ของตน โดยไม่ควบคุมดูแลนางปิยะนุช พนักงานบัญชี ฝ่ายกฎหมายของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย ทั้งสามให้ดี จนเป็นเหตุให้นางปิยะนุชกระทำการเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต อันอาจถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ก็ตาม แต่เนื่องจากมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้ให้คำนิยามว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง คำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจหรือ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามจึงอยู่ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบที่กำหนดความสัมพันธ์หรือสภาพการจ้างระหว่างกัน ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อันสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มิใช่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามบทยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสามกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของนางปิยะนุช พนักงานบัญชี ฝ่ายกฎหมายของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสามให้ดีเป็นเหตุให้นางปิยะนุชกระทำการเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไปโดยทุจริตก็ตาม แต่บทบัญญัติมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดบทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ส่วนคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามจึงอยู่ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบที่กำหนดความสัมพันธ์หรือสภาพการจ้างระหว่างกัน เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดี สืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของนางปิยะนุช ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีเป็นเหตุให้นางปิยะนุชกระทำการเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต ทำให้ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอันสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ โจทก์ นางสาวปนัดดา ลัมพสาระ ที่ ๑ นายกฤษณ์ เลอเลิศวณิชย์ ที่ ๒ นายระพีพงศ์ จรมาศ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ