คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างอาจทำเป็นหนังสือหรืออาจบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าที่ได้ทำเป็นหนังสือถูกจำกัดโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย ว่าไม่ให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 และ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583ซึ่งหมายความว่า ถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือ แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ขึ้นอ้างเป็นข้อปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา
บทบัญญัติใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา17 วรรคสาม ที่ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น คงมีความหมายเพียงว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวนั้นไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยมิฉะนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสามหาได้บังคับเด็ดขาดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วถึงการกระทำความผิดของโจทก์อันเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 และในเรื่องนี้จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้ว จึงต้องให้มีการนำสืบพยานว่า ขณะที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จำเลยได้แจ้งเหตุที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวแก่โจทก์แล้วหรือไม่ การที่ศาลแรงงานงดสืบพยานโจทก์จำเลย และฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๙ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ ๑๘๑ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๖ และวันที่ ๑ ของเดือนถัดไป ต่อมาวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๑ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๓,๘๐๑ บาท และค่าชดเชยจำนวน ๑๖,๒๙๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เข้าสมัครงานกับจำเลยเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม๒๕๓๙ โจทก์ไม่ยอมเข้าทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นปกติ จำเลยได้ว่ากล่าวตักเตือนเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ต่อมาโจทก์ได้ทำผิดอีก จึงให้พักงาน ๖ วัน ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง จำเลยมีสิทธิให้โจทก์ออกจากงานโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนจำเลยแถลงว่าได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจามิได้ทำเป็นหนังสือระบุเหตุผลในการเลิกจ้างเอาไว้ จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์ขัดคำสั่งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ข้อเท็จจริงต้องฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จำนวน๑๖,๒๙๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์โดยไม่สืบพยานโจทก์และจำเลยทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ทั้งที่โจทก์ได้กระทำการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลยโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้จัดการโรงงานของจำเลยส่งคนมาข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้จัดการโรงงาน และไม่ยอมเข้าทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจำเลยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว โจทก์ก็ยังกระทำความผิดอีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยให้การว่า ได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นเหตุตามมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่นายจ้างมีสิทธิยกขึ้นอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มีปัญหาว่ากรณีเช่นนี้ การที่ศาลแรงงานกลางนำมาตรา ๑๗ วรรคสาม แห่งบทกฎหมายดังกล่าวมาปรับแก่คดีแล้ววินิจฉัยว่าในการเลิกจ้างด้วยวาจา นายจ้างไม่อาจยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการวินิจฉัยถูกต้องหรือไม่
เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติ มาตรา ๑๗ วรรคสองแล้ว จะเห็นว่า ได้กำหนดหลักการเรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างขึ้นใหม่เป็นพิเศษยิ่งกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ โดยกำหนดว่าในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างอาจทำเป็นหนังสือหรืออาจบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าที่ได้ทำเป็นหนังสือดังกล่าวได้ถูกจำกัดโดยมาตรา ๑๗ วรรคท้าย ว่าไม่ให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ซึ่งหมายความว่า ถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือ แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ขึ้นอ้างเป็นข้อปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ส่วนบทบัญญัติในมาตรา ๑๗วรรคสาม แห่งบทกฎหมายดังกล่าวที่ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา๑๑๙ ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น คงมีความหมายเพียงว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวนั้นไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มาตรา ๑๗ วรรคสามจึงหาได้บังคับเด็ดขาดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วถึงการกระทำความผิดของโจทก์อันเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๙ และในเรื่องนี้จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้ว จึงควรให้มีการนำสืบพยานว่าขณะที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จำเลยได้แจ้งเหตุที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวแก่โจทก์แล้วหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share