คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 10 บัญญัติว่า สำหรับบรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ศาลนั้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ หมายความรวมทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาระหว่างการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ดังนั้น ขณะที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 ยังมิได้ประกาศยกเลิกแม้ต่อมามีประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวและคดียังค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ หาใช่ว่าอัตราโทษตามกฎหมายใหม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง คดีโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5051/2532ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี ที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5051/2532 นั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลลงโทษจำคุกจำเลย จึงให้ยกคำขอของโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อเช็คครบกำหนด โจทก์นำเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเพราะลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่า ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และให้ใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 แทน และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 กำหนดโทษผู้กระทำความผิดตามคำฟ้องให้ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งอัตราโทษตามกฎหมายใหม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 ประกอบมาตรา 22 อนุ 5 คดีโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาตรา 22 หรือไม่ เห็นว่า ขณะโจทก์ยื่นอุทธรณ์พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ยังมิได้ประกาศยกเลิกและขณะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497คดียังค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ ตามที่บทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 กำหนดให้อำนาจไว้ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาตามฎีกาข้อ 2 ของจำเลยที่ว่าการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 ก็เพื่อให้คดีตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ฉะนั้นคำว่า ศาล ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติ ดังกล่าวที่บัญญัติว่า สำหรับบรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่8 สิงหาคม 2515 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับให้ศาลนั้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปได้นั้น หมายความเฉพาะศาลชั้นต้นเท่านั้น เห็นว่า ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายรวมทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาระหว่างประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มิได้หมายถึงเฉพาะศาลชั้นต้นดังที่จำเลยฎีกามา ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…”
พิพากษายืน

Share