คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2115/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จะต้องกระทำ เสียก่อนระยะเวลายื่นอุทธรณ์สิ้นสุดลงเว้นแต่กรณีที่ มีเหตุสุดวิสัย แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ครั้งสุดท้ายเมื่อเลยกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต ในครั้งก่อนที่ให้ยื่นอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ในครั้งสุดท้ายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอุทธรณ์ของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดอายุอุทธรณ์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์โดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 246 ประกอบมาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและรับอุทธรณ์ของโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์และยกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์และรับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้วโจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2540ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน โดยมีหมายเหตุท้ายคำร้องว่า “ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว”พร้อมลงลายมือชื่อโจทก์และมีข้อความอีกว่า “ข้าพเจ้าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งศาลแล้ว” พร้อมลงลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 26 กันยายน 2540 ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2540 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน โดยอ้างว่ายังไม่สามารถถ่ายคำพิพากษาได้เนื่องจากผู้พิพากษายัง ไม่ได้ลงลายมือชื่อ จึงจัดทำอุทธรณ์ไม่ทันตามกำหนด ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามขอ และเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นภายในเวลาที่ศาลอนุญาตนั้น ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ เห็นว่า การที่โจทก์จะขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 นั้นจะต้องกระทำเสียก่อนระยะเวลายื่นอุทธรณ์สิ้นสุดลงเว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยแต่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายเมื่อเลยกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตในครั้งก่อนที่ให้ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 26 กันยายน2540 โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัย ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 26กันยายน 2540 เนื่องจากสำนวนอยู่ในระหว่างผู้พิพากษาตรวจและลงลายมือชื่อในคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งให้โจทก์ทราบว่าศาลอนุญาตตามคำร้อง ของ โจทก์ โจทก์จึงเชื่อโดยสุจริตว่าศาลอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 27 กันยายน 2540ตามคำร้องซึ่งตรงกับวันเสาร์ กรณีมีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 นั้น เห็นว่าตามคำร้องของ โจทก์ โจทก์รับรองว่าหากโจทก์ไม่รอฟังคำสั่งศาลหรือไม่มาฟังคำสั่งศาลภายใน 7 วัน ให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วกรณีนี้จึงถือได้ว่าโจทก์ทราบคำสั่งศาลแล้ว การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ทราบคำสั่งศาลด้วยตนเองเพราะสำนวนอยู่ในระหว่างเสนอผู้พิพากษาตรวจและลงลายมือชื่อนั้น มิใช่กรณีมีเหตุสุดวิสัยดังนั้นคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ในครั้งสุดท้ายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอุทธรณ์ของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดอายุอุทธรณ์และเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ขึ้นมาวินิจฉัยเองเป็นการไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์โดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 ประกอบมาตรา 142(5)
พิพากษายืน

Share