คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5590/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ว่าในการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่ฟังว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย
ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) กำหนดให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีด้วย เมื่อผู้ตายมีส่วนประมาทในการทำละเมิด ย่อมเป็นเหตุให้ฝ่ายจำเลยต่อสู้คดีและฝ่ายจำเลยก็ได้ดำเนินคดีไปตามข้อต่อสู้และสิทธิของตน โดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินคดีไปโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 จึงสมควรแล้ว
เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมิได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันโดยจำเลยที่ 2 แยกยื่นอุทธรณ์อีกฉบับต่างหาก จึงต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาพร้อมกับอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี แต่มาตรา 59 ห้ามมิให้โจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ คดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้รับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งเป็นความรับผิดในมูลละเมิดโดยผลของกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมถูกจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นความรับผิดในมูลสัญญา ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และความรับผิดของจำเลยร่วมจึงแตกต่างกัน มูลความแห่งคดีมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเต็มจำนวนที่ตนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วย
การวางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 เป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์และเพื่อเป็นประกันการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โจทก์ย่อมบังคับชำระหนี้ได้เพียงจำนวนตามคำพิพากษาเท่านั้น จะบังคับชำระเอาทั้งหมดตามที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมวางไม่ได้ เงินค่าธรรมเนียมส่วนที่วางเกินหรือเหลือจากการบังคับคดี จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมย่อมขอคืนตามส่วนที่ตนวาง และหากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ย่อมขอเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่วางไว้คืนได้ ซึ่งจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิขอเงินที่วางไว้ดังกล่าวคืนไปแล้วด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางให้ครบถ้วนโดยไม่ยอมให้หักเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วนั้น จึงไม่เป็นการให้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องใช้ให้แก่โจทก์หรือเป็นการวางเงินซ้ำซ้อน ไม่ขัดต่อมาตรา 229 และ 162

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 745,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยทั้งสองในต้นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 372,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยร่วม
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน 30 – 1291 ภูเก็ต 86 จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตู้คันดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2539 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้คันดังกล่าวไปตามถนนราษฎร์อุทิศจากทางสี่แยกโรงเรียนใสน้ำเย็นมุ่งหน้าไปทางแยกซอยบางลาในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อถึงบริเวณปากซอยซันเซ็ทนายจิโอร์ดาโน่หรือยอร์ดาโน บรินี ผู้ตายได้ขับรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ออกจากซอยซันเซ็ทแล่นผ่านหน้ารถยนต์ตู้ที่จำเลยที่ 1 ขับมาเพื่อจะเลี้ยวขวาไปทางสี่แยกโรงเรียนใสน้ำเย็นเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันและผู้ตายถึงแก่ความตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 หรือผู้ตาย เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 163/2540 ของศาลชั้นต้น แม้ว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลชั้นต้นดังกล่าวที่ฟังว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของเงินค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 หรืออัตราร้อยละ 12 ต่อปี แม้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (6) ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ได้ก็ตาม แต่จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีด้วย คดีนี้ผู้ตายมีส่วนประมาทในการทำละเมิดย่อมเป็นเหตุให้ฝ่ายจำเลยต่อสู้คดีเป็นธรรมดาและฝ่ายจำเลยก็ได้ดำเนินคดีไปตามข้อต่อสู้และสิทธิของตน โดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินคดีไปโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ฝ่ายจำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 จึงสมควรแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อจำเลยร่วมยื่นอุทธรณ์โดยวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยจะต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เต็มจำนวนหรือวางบางส่วนโดยหักค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วได้ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมิได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันและร่วมกันวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์โดยแยกยื่นอุทธรณ์คนละฉบับกันเช่นนี้ จึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 คือ ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาพร้อมกับอุทธรณ์ด้วย แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมีฐานะเป็นจำเลยร่วมในคดีเดียวกันแต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ห้ามมิให้โจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำรหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ คดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ส่วนจำเลยร่วมถูกจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และความรับผิดของจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุจึงแตกต่างกัน เพราะจำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิดโดยผลของกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมรับผิดในมูลสัญญาซึ่งอาจจะไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่เท่ากันโดยเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาประกันภัยก็ได้ มูลความแห่งคดีมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเต็มจำนวนที่ตนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วย
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมเท่ากับจำนวนในคำพิพากษาโดยไม่ยอมให้หักค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่จำเลยร่วมชำระไว้แล้วออก จึงเป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเกินกว่าที่จำเลยร่วมจะต้องใช้ให้แก่โจทก์ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 มาตรา 59 และมาตรา 162 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2500 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1502/2520 นั้น เห็นว่า การวางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 นั้น เป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ และเพื่อเป็นประกันการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่โจทก์มิใช่เป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โจทก์ย่อมบังคับชำระหนี้ได้เพียงจำนวนตามคำพิพากษาเท่านั้น จะบังคับชำระเอาทั้งหมดตามที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมวางหาได้ไม่ เงินค่าธรรมเนียมส่วนที่วางเกินหรือเหลือจากการบังคับคดี จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมย่อมขอคืนตามส่วนที่ตนวางไว้ได้ นอกจากนี้หากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ย่อมขอเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่วางไว้คืนได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิขอเงินที่วางไว้ดังกล่าวคืนไปแล้วด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางให้ครบถ้วนโดยไม่ยอมให้หักเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วนั้น จึงไม่เป็นการให้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องใช้ให้แก่โจทก์หรือเป็นการวางเงินซ้ำซ้อนและไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จำเลยที่ 2 อ้างมา ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share