คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/27, 90/60 ประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรก็ตามหาก พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง ดังนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้ว จึงไม่อาจนำมาตรา 56 เรื่องของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้ ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้ของกรมศุลกากรไว้โดยเฉพาะหรือมีบทบัญญัติห้ามมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับศุลกากรมาใช้บังคับ กรณีจึงต้องปฏิบัติไปตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลังฯ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ซึ่งกำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนอันจะทำให้กรมศุลกากรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนนั้น ย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกรมศุลกากรในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อกำหนดในแผนส่วนนี้จึงขัดต่อกฎหมายไม่อาจใช้บังคับได้ อย่างไรก็ตามเมื่อแผนได้จัดทำโดยสุจริตและมีความมุ่งหมายเพื่อรักษาองค์กรทางธุรกิจเอาไว้และเพื่อจะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งปวงประกอบกับแผนฟื้นฟูกิจการได้รับการยอมรับจากเจ้าหนี้เป็นส่วนใหญ่แล้ว เพียงแต่ปรากฏเหตุขัดข้องในแผนเฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยหุ้น จึงสมควรแจ้งให้ผู้ทำแผนทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขเหตุขัดข้องดังกล่าวเสียก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนไปเสียทีเดียว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งบริษัทบี.อาร์.ซี.แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน โดยที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่ได้มีการแก้ไขแล้ว ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดวันพิจารณาให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้ว
เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนแก้ไขแผนให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอและได้รับชำระหนี้ด้วยเงินสดโดยไม่ต้องมีการผ่อนชำระ
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า แม้หนี้ของเจ้าหนี้จะเป็นหนี้ค่าภาษีอากรแต่ก็ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดทำขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่า แผนฟื้นฟูกิจการจะกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ…” และมาตรา 90/60 บัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้…” กฎหมายประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรก็ตาม หากพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง ดังนี้ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้ ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้
ปัญหาต่อมามีว่า แผนฟื้นฟูกิจการสามารถกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีให้แก่กรมศุลกากรเจ้าหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนได้หรือไม่ เห็นว่า แม้กรมศุลกากรจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์และการดำเนินการแตกต่างจากนิติบุคคลโดยทั่วไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้ของกรมศุลกากรมาใช้บังคับ กรณีจึงต้องปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งได้กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนอันจะทำให้กรมศุลกากรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของเอกชน ย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกรมศุลกากรในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อกำหนดในแผนส่วนนี้จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจใช้บังคับได้
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการทั้งหมดแล้ว เห็นว่า แผนได้ดำเนินการจัดทำโดยสุจริตและมุ่งหมายที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยมุ่งถึงวัตถุประสงค์ในการที่จะรักษาองค์กรทางธุรกิจเอาไว้และเพื่อจะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งปวง ประกอบกับแผนฟื้นฟูกิจการได้รับการยอมรับจากเจ้าหนี้เป็นส่วนใหญ่แล้ว เพียงแต่ปรากฏเหตุขัดข้องในแผนเฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยหุ้นของบริษัทลูกหนี้ซึ่งศาลไม่อาจมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนได้จึงสมควรแจ้งให้ผู้ทำแผนทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขเหตุขัดข้องดังกล่าวเสียก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนไปเสียทีเดียว”
จึงมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนดำเนินการยื่นคำขอแก้ไขแผนเฉพาะส่วนที่กำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีให้แก่กรมศุลกากรเจ้าหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งนี้ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แล้วรายงานผลการประชุมเจ้าหนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง หากผู้ทำแผนไม่ดำเนินการภายในกำหนดหรือเมื่อได้รับผลการประชุมเจ้าหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ให้ศาลล้มละลายกลางส่งสำนวนนี้คืนศาลฎีกาโดยด่วน ชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกาไปก่อน

Share