คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มิใช่การซื้อขายหุ้นตามปกติ แต่เป็นการซื้อขายหุ้นในกรณีพิเศษ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามแบบของการโอนหุ้นดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง กำหนด
แม้การซื้อขายหุ้นตามฟ้องจะเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคากว่าห้าร้อยบาทซึ่งกฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคสอง แต่บทกฎหมายดังกล่าวบังคับเพื่อความสมบูรณ์ขอสัญญาที่ตัวแทนทำต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น มิได้ใช้บังคับสำหรับข้อพิพาทระหว่างจำเลยซึ่งเป็นตัวการกับโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทน
ประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงินฯ ลงวันที่ 14 เมษายน 2520 ข้อ 1 เป็นระเบียบหรือข้อบังคับที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดขึ้นเพื่อให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ถือปฏิบัติ หากสมาชิกใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกลงโทษตามข้อบังคับ ทั้งการที่โจทก์ออกเงินทดรองซื้อหุ้นให้จำเลยแล้วเรียกร้องให้จำเลยชดใช้คืนก็มิใช่เป็นการพนันขันต่อ แม้จะมีข้อตกลงซื้อขายหลักทรัพย์บางประการขัดกับประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ไม่ทำให้ความผูกพันระหว่างจำเลยกับโจทก์ในฐานะตัวแทนจับตัวการเสียไป
พยานที่ระบุเพิ่มเติมส่วนใหญ่เป็นพยานที่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลวินิจฉัยได้เอง และบางส่วนเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ ศาลไม่รับพยานดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีข้อตกลงซื้อขายหลักทรัพย์ต่อกันจำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหลักทรัพย์ ๑๔ ครั้ง ขายหลักทรัพย์ ๙ ครั้ง เมื่อหักทอนบัญชีกันแล้ว จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ ๕,๖๖๔,๖๐๔.๖๔ บาท ขอให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ข้อตกลงซื้อขายหลักทรัพย์เป็นโมฆะ ขัดต่อประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงินฯ ลงวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๐ ข้อ ๓ เพราะไม่ได้กำหนดไว้วางเงินจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละสามสิบในวันถัดไปในการซื้อขายแต่ละครั้ง และไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกัน ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งจะต้องส่งมอบทรัพย์ในขณะซื้อขายตามมาตรา ๔๖๐ และการซื้อขายทรัพย์สินราคาตั้งแต่ ๕๐๐ บาทขึ้นไปจะต้องทำสัญญาเป็นหนังสือหรือชำระหนี้บางส่วนตามมาตรา ๔๕๖ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อหุ้นหมายเลขเท่าใดให้จำเลยและไม่ได้ส่งมอบใบหุ้น ทั้งจำเลยก็ไม่ได้ชำระเงิน การซื้อขายจึงไม่เกิดขึ้น การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อจะต้องกระทำตามมาตรา ๑๑๒๙ แต่โจทก์ไม่ได้จัดทำให้ถูกต้อง โจทก์ไม่เคยแจ้งว่าโจทก์ซื้อหุ้นให้แก่จำเลยในนามของโจทก์ และไม่เคยมอบใบหุ้น ขัดต่อข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนการขายหลักทรัพย์เกิดจากความหลงผิด เมื่อปรากฏภายหลังว่าการซื้อหุ้นมาเป็นโมฆะ การสั่งขายหุ้นดังกล่าวย่อมโมฆะด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้โจทก์คืนใบหุ้นของจำเลยที่โจทก์เพิกถอนการสั่งขาย และใช้ค่าเสียหาย ๘๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการสั่งขายและยึดหุ้นของจำเลยไว้ตามข้อตกลงจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ โดยให้หักเงินปันผล ๑๕,๐๐๐ บาทกับดอกเบี้ยถึงวันฟ้องออกเสียก่อน แล้วให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน ๔,๗๕๔,๔๕๙ บาท และให้โจทก์คืนใบหุ้นตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ข้อตกลงซื้อขายหลักทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.๔ เป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการซื้อหุ้น ๑๕ รายการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง เพราะจำเลยในฐานะผู้รับโอนมิได้ลงลายมือชื่อในตราสารการโอนหุ้น เห็นว่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มิใช่การซื้อขายหุ้นตามปกติ แต่เป็นการซื้อขายหุ้นในกรณีพิเศษ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามแบบของการโอนหุ้นดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง กำหนด ข้อที่ว่าการมอบให้ซื้อหุ้นไม่ได้ทำเป็นหนังสือเพราะไม่มีใบมอบอำนาจนั้น เห็นว่าแม้การซื้อหุ้นทั้ง ๑๕ รายการตามฟ้องจะเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคากว่าห้าร้อยบาทซึ่งกฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ วรรคสอง แต่บทกฎหมายดังกล่าวบังคับเพื่อความสมบูรณ์ของสัญญาที่ตัวแทนทำต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น มิได้ใช้บังคับสำหรับข้อพิพาทระหว่างจำเลยซึ่งเป็นตัวการกับโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทน ข้อที่ว่าเอกสารหมาย จ.๔ ขัดกับประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงินฯ ลงวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๐ ข้อ ๑ โดยในช่วงระยะเวลา ๔ วันแรกโจทก์ให้กู้ยืมเงินเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบเป็นการยั่วยุให้มีการซื้อขายหุ้นโดยผู้ซื้อไม่ต้องลงทุนเป็นการเสี่ยงโชคเข้าลักษณะเป็นการพนันขันต่อนั้น เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นระเบียบหรือข้อบังคับที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดขึ้นเพื่อให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ถือบัญญัติ หากสมาชิกใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกลงโทษตามข้อบังคับ ทั้งการที่โจทก์ออกเงินทดรองซื้อหุ้นให้จำเลยแล้วเรียกร้องให้จำเลยชดใช้คืนก็มิใช่เป็นการพนันขันต่อ แม้เอกสารหมาย จ.๔ จะมีข้อตกลงบางประการขัดกับประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ไม่ทำให้ความผูกพันระหว่างจำเลยกับโจทก์ในฐานะตัวแทนกับตัวการเสียไป การซื้อขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลงซื้อขายหลักทรัพย์เอกสารหมาย จ.๔ จึงไม่เป็นโมฆะ
จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่รับพยานบางอันดับที่จำเลยระบุไว้ในบัญชีพยานเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าพยานจำเลยที่ระบุเพิ่มเติมส่วนใหญ่เป็นพยานที่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลชั้นต้นสั่งว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลวินิจฉัยได้เอง และบางส่วนเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ ศาลล่างทั้งสองไม่รับพยานบางอันดับดังกล่าวที่จำเลยระบุเพิ่มเติมชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share