คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2713/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,8ทวิ,72,72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายตามกฎหมาย จึงเป็นโจทก์ร่วมในความผิดฐานดังกล่าวไม่ได้ ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้าม มิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาในความผิดฐานดังกล่าวเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 371, 33, 58, 91พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1832/2532 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษที่รอการลงโทษไว้ และยังอยู่ในระหว่างที่ศาลรอการลงโทษจริง
ระหว่างพิจารณา นายประสงค์ เปาอินทร์ บิดาร้อยตำรวจโทวัชรินทร์ เปาอินทร์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องนั้นเห็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่โจทก์ฟ้องรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานดังกล่าวโดยตรง ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายจึงเป็นโจทก์ร่วมในความผิดฐานดังกล่าวไม่ได้และไม่มีสิทธิจะฎีกาขอให้ลงโทษในความผิดฐานดังกล่าวได้ ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาในความผิดฐานดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ร่วม

Share