คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรู้จักกับบุตรชายผู้เสียหายที่ 1 เจ้าของรถจักรยานยนต์ และผู้เสียหายที่ 2 มาก่อน ทั้งเคยประสบอุบัติเหตุได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง หากมีใครขัดใจจะแสดงอาการโวยวายคล้ายคนอารมณ์เสีย ก่อนนำรถจักรยานยนต์ไป จำเลยพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ 2 ครั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ให้ จำเลยพูดขู่บังคับเอารถจักรยานยนต์โดยขู่ว่าจะตบ ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวจึงให้รถจักรยานยนต์แก่จำเลยไป ดังนั้น การข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเพียงการแสดงลักษณะนิสัยจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการมุ่งหมายเพื่อจะเอารถจักรยานยนต์นั้นไปเป็นของจำเลย
แม้จะได้ความว่าต่อมาจำเลยนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นยึดไว้เป็นประกันค่าอาหาร แต่ราคาอาหารไม่มากนัก เชื่อว่าจำเลยตั้งใจไถ่คืน จึงเป็นการบังคับเอาทรัพย์ผู้อื่นไปใช้ชั่วคราว ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงเป็นความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง และนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2250/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง จำคุก 10 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก จำคุก 1 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า นางบุญยิ่ง ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยรู้จักกับนายธีรภัทร บุตรชายของผู้เสียหายที่ 1 และนายสุรเดช ผู้เสียหายที่ 2 มาก่อนเกิดเหตุ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเอารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปจากผู้เสียหายที่ 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาชิงทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า สำหรับพฤติการณ์ขณะที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไม่ได้เบิกความว่าจำเลยพูดขอยืมรถจักรยานยนต์ แต่นายธีรภัทรพยานโจทก์เบิกความว่า หลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มาบอกพยานว่าจำเลยมาขอยืมรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ให้ จำเลยจึงขู่จะทำร้ายทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ต้องยินยอมให้จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไป ซึ่งสอดคล้องกับให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 ว่า ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุมาถึงหน้าโรงภาพยนตร์ จำเลยได้พูดขอยืมรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ให้ จำเลยจึงขู่บังคับเอารถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 โดยขู่ว่าจะตบ ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวจึงให้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวแก่จำเลยไป ซึ่งนายธีรภัทรนั้นเป็นเพื่อนของผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ให้การดังกล่าวหลังจากเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน จึงเชื่อว่านายธีรภัทรเบิกความและผู้เสียหายที่ 2 ให้การไปตามความเป็นจริง และพยานจำเลยนอกจากจำเลยจะเบิกความว่าได้พูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ 2 แล้ว ยังมีนายสุวิทย์ พี่ของผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า ขณะนั้นพยานอยู่ใกล้ๆ กับผู้เสียหายที่ 2 จำเลยได้มาขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งผู้เสียหายที่ 2 เบิกความยอมรับว่านายสุวิทย์พี่ชายของผู้เสียหายที่ 2 เห็นตอนที่จำเลยมาพูดเจรจา อีกทั้งนายธีรภัทรก็เบิกความว่าก่อนหน้านี้พยานเคยยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลย และจำเลยก็เคยยืมรถจักรยานยนต์ของพยานเช่นกัน ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงฟังได้ว่า ก่อนนำรถจักรยานยนต์ไป จำเลยได้พูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ 2 และนายธีรภัทรเบิกความว่า จำเลยมีลักษณะเป็นคนประสาทไม่ดีชอบเสียงดัง และผู้เสียหายที่ 2 ก็เบิกความว่า พยานทราบว่าจำเลยเคยประสบอุบัติเหตุได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง หากมีใครไปขัดใจเข้าจะแสดงอาการโวยวายคล้ายคนอารมณ์เสีย ดังนั้น การข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเพียงการแสดงลักษณะนิสัยของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการมุ่งหมายเพื่อจะเอารถจักรยานยนต์นั้นไปเป็นของจำเลย แม้จะได้ความว่าต่อมาจำเลยนำรถดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นยึดไว้เป็นประกันค่าอาหาร แต่ราคาอาหารไม่มากนักเชื่อว่าจำเลยตั้งใจจะไถ่คืน จึงเป็นการบังคับเอาทรัพย์ผู้อื่นไปใช้ชั่วคราว ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องข้อหาชิงทรัพย์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share