แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลและหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยมีต่อผู้ร้องปรากฏว่าเป็นหนี้ที่จำเลยติดต่อกับผู้ร้องในทางธุรกิจโดยใช้ชื่อว่า ป. ตลอดมาเมื่อผู้ร้องยื่นฟ้องจำเลยในชื่อ ป. เป็นคดีล้มละลายต่อศาลจังหวัดตาก โดยยื่นฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้แล้ว ปรากฏว่าจำเลยยอมรับหมายเรียกของศาลจังหวัดตากโดยมิได้โต้แย้งว่า จำเลยมิได้ชื่อ ป. กรณีเช่นนี้จึงเป็นการยากที่ผู้ร้องจะรู้ชื่อใหม่ของจำเลยได้ ดังนั้น คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ดี การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ดี ที่ได้กระทำในชื่อของจำเลยแต่เพียงชื่อเดียว ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ป. ได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นแล้ว ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้ และถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอขยายระยะเวลาต่อศาลหลังจากสิ้นระยะเวลาแล้วได้ แต่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลาเสียภายในเวลาอันสมควรที่ผู้ร้องอาจยื่นได้หลังจากที่ทราบเรื่องจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว
การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หลังจากทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วเป็นเวลานานถึงหนึ่งเดือนเศษ โดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 153 ก่อน แล้วจึงมาขอขยายระยะเวลาตามคำร้องนี้ ผู้ร้องย่อมไม่อาจขอขยายระยะเวลาได้