คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7092/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่1จะซื้อที่ดินพิพาทมาภายหลังจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แต่โจทก์กับจำเลยที่1ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากันเลยจำเลยที่1เป็นผู้ซื้อที่ดินและนำไปจำนองผ่อนชำระหนี้ฝ่ายเดียวส่วนจำเลยที่2อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่1มีส่วนในการชำระเงินดาวน์และผ่อนชำระราคาค่าที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทด้วยและที่จำเลยที่1ไปเอาเงินจากโจทก์มาไถ่ถอนที่ดินนำไปจำนองใหม่แล้วนำเงินไปปลูกบ้านโจทก์จึงมีส่วนร่วมในที่ดินและบ้านพิพาทด้วยเช่นกันโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและบ้านพิพาทแต่ตามพฤติการณ์ไม่อาจหยั่งทราบได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมีส่วนเป็นเจ้าของคนละเท่าใดจึงต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1357จำเลยที่2มีส่วนหนึ่งในสามส่วนส่วนที่เหลืออีกสองในสามส่วนเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ซึ่งต้องแบ่งให้ได้ส่วนเท่ากัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวต่อกันโจทก์ขอร้องให้จำเลยทั้งสองเลิกกัน จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้พาจำเลยที่ 2 เข้ามาอยู่กินในบ้านที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 อาศัยอยู่ด้วยกันโดยเปิดเผยเป็นการทำร้ายทารุณจิตใจและเหยียดหยามโจทก์อย่างมาก จนโจทก์จำต้องย้ายไปพักอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง การที่จำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ทำให้โจทก์ประสบความลำบากในการครองชีพเพราะโจทก์มีรายได้จากการรับจ่ายเย็บเสื้อผ้าเพียงเดือนละประมาณ 2,000 บาท ไม่พอค่าใช้จ่ายขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันและให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่าให้หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรสแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นเวลา10 ปี กับให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าทดแทนคนละ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบถึงความสัมพันธ์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้คอยดูแลเอาใจใส่บุตรของจำเลยที่ 1 จนเกิดมีความสนิทสนมกันจึงได้คบหากันฉันชู้สาวตั้งใจจะอยู่กินเป็นสามีภริยากันหลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ได้เพียง 1 ถึง 2 ปี ซึ่งโจทก์ได้รู้เห็นยินยอมมาตั้งแต่ต้นโจทก์มีทรัพย์สินและมีรายได้เพียงพอการครองชีพไม่ยากจนเดือดร้อน จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง และโจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งปันทรัพย์สินเพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยาต่อกัน โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้านโดยอาศัยเงินจากจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นเป็นส่วนใหญ่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้จำเลยที่ 1 แบ่งปันที่ดินและบ้านเลขที่ 111/2 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินให้โจทก์หนึ่งในสาม หากตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันเอง หากประมูลไม่ได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งปันกัน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์คนละ50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินกับบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2525 ต่อมาในปี 2529จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมา 1 แปลง ราคา 150,000 บาท แล้วนำเข้าจำนองธนาคารผ่อนชำระหนี้เรื่อยมา จนกระทั่งเหลือหนี้ประมาณ70,000 บาท จำเลยที่ 1 ก็ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเดิม แล้วนำเข้าจำนองที่ธนาคารแห่งใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2531 จำนวนเงิน 200,000 บาทเพื่อนำเงินมาปลูกบ้านในที่ดินพิพาท 1 หลัง และกู้ยืมบุคคลภายนอกมาเพิ่มอีก 100,000 บาท ในการผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1เป็นผู้ผ่อนตามลำพับ ส่วนจำเลยทั้งสองก็อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาตลอดมา มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิที่จะแบ่งปันที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเพียง 1 ใน 3 ส่วน หรือครึ่งหนึ่ง เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะซื้อที่ดินพิพาทมาภายหลังจดทะเบียนสมรส แต่ตามพฤติการณ์โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากันเลย กลับมีเจตนาที่จะปกปิดสถานะความเป็นสามีภริยามิให้เป็นที่รับรู้ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเอาใจใส่ดูแลความห่วงใย การไม่ยอมใช้สิทธิต่าง ๆ อันพึงมีของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นข้าราชการไม่ยอมเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากนางสาวให้เป็นนางและไม่ยอมเปลี่ยนนามสกุลตามจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการซื้อไปตามลำพัง นำเข้าจำนองธนาคารผ่อนชำระหนี้ฝ่ายเดียว โดยโจทก์ไม่ได้มาเกี่ยวข้องและไม่ได้สนใจว่าผ่อนชำระหนี้ค่าที่ดินอย่างไร มีกำหนดเวลาเท่าใด ตรงกันข้ามกับจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ได้อยู่กินร่วมหัวจมท้ายกับจำเลยที่ 1 ช่วยเหลือเจือจุนต่อกันฉันสามีภริยาตลอดมา แสดงออกอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าเป็นสามีภริยากัน ร่วมกันในการทำมาหากินช่วยเหลือต่อกัน อุปการะเกื้อกูลกัน มิใช่เป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ ต่างแยกค่าใช้จ่ายเป็นส่วนสัดของใครของมัน อันจะถือว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งเงินผ่อนชำระหนี้แล้วจะต้องเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวและได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้นำเงินที่เก็บสะสมไว้ไปวางเป็นเงินดาวน์ในการซื้อที่ดินพิพาทด้วย การที่จำเลยที่ 2 ได้ช่วยเหลือออกค่าใช้จ่ายในครอบครัว และมีส่วนออกเงินดาวน์ด้วยเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าที่ดินและค่าก่อสร้างบ้านพิพาทจำเลยที่ 2 จึงมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทด้วยและเชื่อว่าเงินจำนวน 70,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ไปเอามาจากโจทก์เป็นเงินของโจทก์ที่นำมาไถ่ถอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 นำไปจำนองใหม่ แล้วนำเงินไปปลูกบ้าน โจทก์จึงมีส่วนร่วมในที่ดินและบ้านพิพาทด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้น โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าว แต่ตามพฤติการณ์ไม่อาจจะหยั่งทราบได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองมีส่วนเป็นเจ้าของคนละเท่าใดจึงต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1357 จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทหนึ่งในส่วน ส่วนที่เหลืออีกสองในสามส่วนเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ส่วนเท่ากันโจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้แบ่งปันที่ดินและบ้านพิพาทเพียงหนึ่งในสามส่วนเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share