คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องในข้อหาความผิดฐานทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะหรือ สาธารณสถาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372 ไม่เคร่งครัดถึงกับต้องบรรยายใช้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายเสมอไป เมื่ออ่านคำฟ้องทั้งหมดพอเข้าใจได้ว่าเป็นการทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะหรือสาธารณสถานแล้ว ก็เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้พูดโต้เถียงทะเลาะกันเรื่องแย่งที่ตั้งวางของขายที่ตลาดหนองมน โดยด่าซึ่งกันและกัน แล้วจำเลยที่ 1 ใช้ผลฟักทองทุ่มใส่จำเลยที่ 2 เพื่อจะทำร้ายแต่จำเลยที่ 2 ได้ใช้ลังไม้รับไว้ทันจึงไม่ถูก แล้วจำเลยที่ 2 ใช้ลังไม้ทุ่มใส่จำเลยที่ 2 เพื่อจะทำร้าย แต่จำเลยที่ 1 หลบทัน ในขณะนั้นจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ด่าจำเลยที่ 1 และพยายามจะเข้าตบตีจำเลยที่ 1 แต่มีคนห้ามไว้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้ทำร้ายจำเลยที่ 1 ในขณะเดียวกัน จำเลยที่ 4 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ด่าจำเลยที่ 1 ด้วยทั้งนี้ โดยจำเลยทั้ง 4 มีเจตนา เหตุเกิดที่ตลาดหนองมน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 295, 372, 392

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่ทะเลาะกันด้วยเสียงอื้ออึงในที่สาธารณะ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372 ปรับคนละ 100 บาท ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องมิได้บรรยายว่าการทะเลาะด่ากันนั้นถึงขนาดอื้ออึง ขาดองค์ความผิดตามมาตรา 372 ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น และเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดีชอบที่จะพิพากษาถึงจำเลยที่ 1ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ส่วนฟ้องตอนต่อไปเป็นที่เข้าใจได้ว่าตลาดหนองมนเป็นที่สาธารณะ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมด โดยเฉพาะตอนที่ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้พูดโต้เถียงทะเลาะกันโดยด่าซึ่งกันและกัน และใช้ผลฟักทองและลังไม้ทุ่มใส่กันและกันที่ตลาดหนองมน ก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นการทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในสาธารณสถาน ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372 แล้ว หาจำต้องเคร่งครัดถึงกับว่าต้องใช้ถ้อยคำในกฎหมายเสนอไปไม่ ฟ้องโจทก์ฐานนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้ออื่นของจำเลย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่

Share