แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
(1) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 นั้นมุ่งหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมบุคคลอันธพาลผู้กระทำละเมิดกฎหมายได้มากขึ้น โดยให้อำนาจควบคุมครั้งแรกถึง 30 วัน กล่าวคือ เป็นการขยายอำนาจการควบคุมครั้งแรกในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 นั่นเอง แต่หาได้มุ่งหมายให้อำนาจที่จะควบคุมบุคคลอันธพาลไว้เฉย ๆ โดยไม่มีข้อหาว่าละเมิดกฎหมายและโดยไม่มีการสอบสวนไม่ เพราะฉะนั้นเจ้าพนักงานจึงไม่อาจที่จะควบคุมผู้ใดโดยอ้างว่าเป็นบุคคลอันธพาล แต่ปราศจากข้อกล่าวหาว่าผู้นั้นได้กระทำการละเมิดต่อกฎหมาย
(2) ด้วยเหตุผลในข้อ 1 ข้างบนนี้ เมื่อได้ความชัดว่าจำเลยถูกควบคุมมา 30 วัน ฐานเป็นบุคคลอันธพาลนั้น ก็เพราะเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดกฎหมาย เช่น ลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นต้น ก็ชอบที่จะต้องหักวันที่ถูกควบคุมในฐานเป็นบุคคลอันธพาล 30 วันนั้นออกจากกำหนดโทษตามคำพิพากษาให้จำเลยด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2508)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องมีใจความว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรรถจี๊ปวิลลี่ของนายสนัด โชคชัย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๕, ๓๕๗ และว่าระหว่างสอบสวนจำเลยมิได้ถูกควบคุมในคดีนี้ แต่ถูกควบคุมฐานเป็นบุคคลอันธพาลตั้งแต่วันถูกจับ (คือ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๖) และถูกควบคุมในคดีนี้ตั้งแต่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๖
จำเลยในการรับสารภาพฐานรับของโจร และว่าไม่เคยกระทำผิดมาก่อน และไม่ได้เป็นบุคคลอันธพาล
ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยผิดฐานรับของโจร ลดมาตราส่วนโทษและลดฐานรับสารภาพแล้ว คงจำคุกจำเลยไว้ ๘ เดือน นับโทษตั้งแต่วันจำเลยถูกจับ (๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๖) เพราะไม่ได้ความว่า ก่อนที่จำเลยจะถูกจับในเรื่องนี้ จำเลยต้องหาว่าเป็นบุคคลอันธพาลมาก่อนแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ขอให้นับโทษจำเลยตั้งแต่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๖ โดยอ้างว่าก่อนวันนั้น จำเลยต้องควบคุมในฐานะเป็นบุคคลอันธพาลต่างหาก หาใช่ถูกควบคุมในคดีนี้ไม่ โดยอ้างฎีกาที่ ๙๖๖/๒๕๐๔ สนับสนุน ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฎีกาที่ ๙๖๖/๒๕๐๔ นั้น ไม่เป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีนี้ และพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำร้องขอขังของเจ้าพนักงานสอบสวนฉบับแรกกล่าวว่าจำเลยต้องหาว่าลักรถจี๊ปหรือรับของโจรระหว่างคืนวันที่ ๑๙ ติดต่อกับคืนวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ จำเลยถูกจับและถูกควบคุมมา ๓๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ จนถึงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำร้องขอขังฉบับนี้ และในคำร้องกล่าวมาด้วยว่า ได้ควบคุมจำเลยเป็นบุคคลอันธพาลตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ๓๐ วัน
ต่อมาจำเลยถูกฟ้องฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยถูกควบคุมและคุมขังติดต่อกันตลอดมาแล้วศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลย ๘ เดือน ฐานรับของโจร
มีข้อที่จะต้องวินิจฉัยว่า การนับโทษให้จำเลยนั้น จะต้องหักวันที่จำเลยถูกคุมขังในฐานเป็นบุคคลอันธพาล ๓๐ วัน ให้จำเลยด้วยหรือไม่
ได้ปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า การที่จะควบคุมบุคคลอันธพาลไว้ทำการสอบสวนไม่เกิน ๓๐ วันได้นั้น ก็โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑ ข้อ ๑ เมื่อข้อความในประกาศชัดแจ้งอยู่แล้วว่า บุคคลอันธพาลต้องกระทำการละเมิดต่อกฎหมายด้วย และมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมในการสอบสวนด้วย จึงจะจับตัวผู้นั้นมาควบคุมไว้ทำการสอบสวนได้ไม่เกิน ๓๐ วันเช่นนี้ เจ้าพนักงานจึงหาอาจที่จะควบคุมตัวผู้ใดด้วยการอ้างว่าผู้นั้นเป็นบุคคลอันธพาล แต่ปราศจากข้อกล่าวหาว่าได้กระทำการละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑ นี้ มุ่งหมายที่จะให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมบุคคลอันธพาลผู้กระทำละเมิดกฎหมายให้มากขึ้น โดยให้อำนาจควบคุมครั้งแรกได้ถึง ๓๐ วัน กล่าวคือ เป็นการขยายอำนาจการควบคุมในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ นั่นเอง แต่คำสั่งฉบับนี้มิได้มุ่งหมายให้อำนาจควบคุมบุคคลอันธพาลไว้เฉย ๆ โดยไม่มีข้อหาว่าละเมิดกฎหมายและโดยไม่มีการสอบสวน การควบคุมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑ นี้ มีลักษณะแตกต่างกับการควบคุมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๓ ที่ว่า เมื่อทำการสอบสวนแล้วไม่ได้หลักฐานที่จะฟ้องร้องแล้วให้อำนาจสั่งให้ส่งตัวไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพแล้ว คณะกรรมการก็จะพิจารณาและมีคำสั่งทุก ๆ ๓ เดือน ว่าควรจะควบคุมตัวไว้หรือปล่อยตัวไป
กล่าวโดยสรุป ตามคำร้องขอขังดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ชัดว่า การที่จำเลยถูกควบคุมมา ๓๐ วัน ในฐานะเป็นบุคคลอันธพาลนั้น ก็เนื่องจากมีข้อหาว่ากระทำการละเมิดต่อกฎหมายหรือทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรนั่นเอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจควบคุมเพื่อทำการสอบสวนเป็นครั้งแรกได้ ๓๐ วัน
ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ถูกควบคุมและถูกจำขังตลอดมาให้ด้วย โดยหักวันที่ต้องถูกควบคุมในฐานะเป็นบุคคลอันธพาล ๓๐ วันนั้นออกจากกำหนดโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้จำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒ นั้นชอบแล้ว พิพากษายืน