แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ไม้ท่อนที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นไม้พื้นปาเก้ ลูกกรงหรือซี่ลูกกรงได้ไม่มีลักษณะที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงยิ่งกว่าจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น จึงไม่เป็นไม้ฟืนตามพ.ร.บ. ป่าไม้ ฯ มาตรา 4(8).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับเอาไว้ในครอบครอง ช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งไม้แดง ไม้เต็ง ไม้ประดู่ ไม้พลวง และไม้รัง รวม 68 ท่อน ปริมาตร 3.09 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังมิได้แปรรูปและเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายโดยเป็นไม้ที่มีผู้ตัดฟันชักลากมาจากป่าบ้านน้ำดิบซึ่งอยู่ในบริเวณป่าแม่สลิดและป่าโป่งแดง อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รับอนุญาตและรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาจากการกระทำความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และในวันเวลาเดียวกันนั้นจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันรับเอาไว้ในความครอบครองช่วยซ่อนเร้นช่วยพาเอาไปเสียซึ่งไม้ฟืนอันเป็นของป่าหวงห้ามปริมาตร 34.89ลูกบาศก์เมตร และเป็นไม้พื้นที่มีผู้เก็บหามาจากป่าบ้านน้ำดิบ ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าแม่สลิดและป่าโป่งแดง อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ฟืนที่มีผู้ได้มาจากการกระทำความผิดฐานเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติและจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลสมอโคน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31,34, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 11, 27, 29, 29 ทวิ,69, 70, 71 ทวิ, 72, 74, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91ริบไม้และของป่าของกลาง กับจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 34พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 ทวิ, 70 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 34 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปีและปรับคนละ 5,000 บาท บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา29, 30 ของกลางริบ จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2), 70 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 3 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท รวมโทษตามข้อหามีไม้ฟืนโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 2 ปี ปรับ 5,000 บาท เป็นจำคุกคนละ 5 ปี ปรับคนละ 11,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่าไม้ของกลางบางส่วนคือ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้ประดู่ ไม้พลวง และไม้รังรวม 68 ท่อน ปริมาตร 3.09 ลูกบาศก์เมตร เป็นไม้ฟืนอันเป็นของป่าหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4(8) ให้คำนิยามของคำว่า ไม้ฟืน ไว้ว่า หมายความว่าบรรดาไม้ที่มีลักษณะและคุณภาพเหมาะสมที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงยิ่งกว่าจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น สำหรับไม้ท่อนของกลางดังกล่าว นายศรีเทาเบิกความว่าได้แยกออกมาจากส่วนที่เป็นไม้ฟืนซึ่งมีลักษณะเป็นรูและโพรงเหมาะสำหรับเป็นเชื้อเพลิง เป็นไม้ท่อนที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นไม้พื้นปาเก้ ลูกกรง หรือซี่ลูกกรงได้ ซึ่งตามภาพถ่ายหมาย จ.2 จะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่จะทำประโยชน์ได้ดังคำเบิกความของนายศรีเทา และการตรวจสอบนี้ยังได้ทำบันทึกและบัญชีขนาดไม้ของกลางนี้ไว้ตามบันทึกการตรวจสอบจำนวน วัดขนาด และปริมาตรไม้ของกลางกับบัญชีขนาดไม้ของกลางไว้ตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 1 ถึงแผ่นที่ 4 และได้แยกไม้ที่มีลักษณะเป็นไม้ฟืนไว้ตามบัญชีของป่า (ไม้ฟืน) เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 5ที่จำเลยทั้งสี่นำสืบว่าไม้ของกลางทั้งหมดเป็นไม้ฟืน จึงเป็นคำเบิกความโดยปราศจากเหตุผลและขัดกับลักษณะไม้ของกลางที่จะพึงรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษไว้นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่เป็นการทำลายทรัพยากรของชาติที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอันก่อให้เกิดภัยพิบัติต่อประชาชน และจำเลยทั้งสี่ได้กระทำโดยเพียงแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนโดยเฉพาะ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ แต่เห็นควรให้ลงโทษจำคุกแต่ละกระทงโดยไม่ลงโทษปรับด้วย อนึ่งการที่จำเลยที่ 4 รับไม้ท่อนของกลางซึ่งเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14 ย่อมมีความผิดตามมาตรา 31 และ 34 อีกบทหนึ่งด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง, 70 บทเดียวจึงไม่ชอบ และที่ศาลชั้นต้นลงโทษฐานรับไม้ฟืนของกลางไว้ในครอบครองโดยมิได้ระบุพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสองและพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 และ 71 ทวิ ก็เป็นการปรับบทลงโทษไม่ครบถ้วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่สี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง และ34 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 29, 29 ทวิ, 69วรรคสอง, 70, 71 ทวิ, 73 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยมาตรา 86 ฐานรับไม้ท่อนของกลางไว้ในครอบครอง ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยที่ 4 จำคุก 3 ปี ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดกระทงนี้ จำคุกคนละ 2 ปี ฐานรับไม้ฟืนของกลางไว้ในครอบครอง ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดอีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยที่ 4 จำคุก 2 ปี ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดกระทงนี้ จำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน รวมโทษสำหรับจำเลยที่ 4 จำคุก 5 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ3 ปี 4 เดือนโดยไม่ลงโทษปรับจำเลยทุกคน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”