แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเอาความเท็จฟ้องว่าโจทก์ชิงทรัพย์ และเบิกความเท็จทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์เป็นผู้เสียหายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 175,177 ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 257, 177 กำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ตาม มาตรา 177 กำหนด 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 175 จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยแต่เพียงข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 เอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่าโจทก์ชิงทรัพย์จำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลว่า โจทก์ใช้มือล้วงกระตุกสร้อยคอทองคำกับพระเครื่องเลี่ยมทองไปจากคอของจำเลยที่ 1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล คือพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหาย ซึ่งในมาตรา 2(5) วิเคราะห์ศัพท์ของคำว่า “ผู้เสียหาย” ไว้ว่า หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ฯลฯ การที่จำเลยที่ 1 เอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่าโจทก์ชิงทรัพย์จำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลว่าโจทก์ใช้มือล้วงกระตุกสร้อยคอทองคำไปจากคอจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 177 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2)”
พิพากษายืน