คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 188, 341 และให้จำเลยชดใช้เงิน 311,073.74 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 16
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) จำคุก 3 ปี ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีปกครองนครศรีธรรมราช รักษาการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ประกอบมาตรา 83 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำเลยคืนเงิน 311,073.74 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 16 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสุรสิทธิ์ มาเบิกความยืนยันว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2545 จำเลยมาหาพยานที่บ้านและให้พยานช่วยหาสมาชิกให้เพื่อตั้งชมรมต่อต้านยาเสพติด พยานเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี จึงรับปากว่าจะช่วยหาสมาชิกให้ โดยจำเลยต้องการสมาชิกประมาณ 100 ถึง 200 คนและให้ค่าตอบแทนแก่คนที่สมัครเป็นสมาชิกคนละ 50 บาท พยานจึงได้รวบรวมบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้านในหมู่บ้านได้ประมาณ 100 กว่าใบ แล้วนำไปให้จำเลย จำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเก็บไว้ แล้วคืนต้นฉบับให้พยาน และพยานนำไปคืนให้ชาวบ้านพร้อมกับให้เงินคนละ 50 บาท หลังจากนั้นประมาณ 3 ถึง 4 เดือน ชาวบ้านที่พยานไปรวบรวมบัตรประจำตัวประชาชนได้มาแจ้งแก่พยานว่ามีใบเสร็จเรียกเก็บเงินค่าโทรศัพท์ พยานจึงพาชาวบ้านบางส่วนไปแจ้งความร้องทุกข์ พยานสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จำเลยนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไป จึงสอบถามจำเลย จำเลยบอกว่านำไปให้เพื่อนที่กรุงเทพมหานคร เห็นว่า แม้นายสุรสิทธิ์ประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องการที่จำเลยมาขอให้พยานไปรวบรวมบัตรประจำตัวประชาชนแล้วนำไปถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จากนั้นจำเลยได้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปนั้น ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้กล่าวหานายประสิทธิ์ว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลย แต่ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ดังนั้น การที่นายสุรสิทธิ์มาเบิกความเป็นพยานในชั้นศาล คำเบิกความของนายสุรสิทธิ์จึงมิใช่เป็นคำเบิกความซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดซึ่งไม่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟังแต่ประการใด แต่นอกจากคำเบิกความของนายสุรสิทธิ์แล้ว โจทก์ยังมีพยานปากนายวิรัช พนักงานของผู้เสียหายที่ 16 มาเบิกความสนับสนุนว่า ตามปกตินั้นหากผู้ใช้บริการต้องการใช้บริการจะต้องไปที่ที่ทำการตัวแทนของบริษัทและกรอกข้อมูลขอใช้บริการโทรศัพท์ที่ที่ทำการโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนและลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มคำขอ พร้อมส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หลังจากนั้นตัวแทนจำหน่ายจะให้ซิมการ์ดไป 1 ใบ เพื่อไปใช้กับเครื่องโทรศัพท์ โดยตัวแทนจะรวบรวมแบบฟอร์มทั้งหมดส่งให้ทางบริษัท ดังนั้น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่จะนำไปเพื่อยื่นคำขอ ทั้งตามคำเบิกความของนายประสิทธิ์ก็ยืนยันว่าหลังจากที่จำเลยมาดำเนินการขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายทั้ง 15 คนแล้ว ต่อมาอีกประมาณ 3 ถึง 4 เดือน ผู้เสียหายทั้ง 15 คน ก็ได้รับใบแจ้งหนี้เพื่อให้ชำระหนี้การใช้โทรศัพท์จากผู้เสียหายที่ 16 จึงรับฟังได้ว่าการรับไปซึ่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกับมีการดำเนินการยื่นคำขอและทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์นั้น เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ทั้งยังปรากฏรายชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 ในแบบพิมพ์คำขอดังกล่าว และแม้ตามคำเบิกความของพันตำรวจหญิงปวีณา เจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานและเป็นผู้ตรวจสอบลายมือชื่อในคำขอหรือสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์จำนวน 26 ฉบับแล้ว พยานลงความเห็นว่ามีเอกสารเพียง 3 ฉบับ ซึ่งการลงลายมือชื่อของนางสาวยุพา นางสาวเรียง และนายสุวิทย์ เป็นลายมือชื่อเขียนชื่อบุคคลอื่นของจำเลยก็ตาม แต่เห็นว่าการตรวจพิสูจน์ตามทางนำสืบได้ให้จำเลยเขียนชื่อของผู้ยื่นคำขอ แล้วนำไปตรวจพิสูจน์กับลายมือชื่อในคำขอตามสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์นั้น น่าจะเป็นการยากที่จะสามารถตรวจพิสูจน์ถึงความคล้ายคลึงหรือความเหมือนกันของลายมือชื่อดังกล่าวได้ ดังนั้น จึงเห็นว่าแม้พันตำรวจตรีหญิงปวีณาจะสามารถตรวจพิสูจน์ว่ามีเอกสาร 3 ฉบับ ซึ่งเป็นลายมือชื่อเขียนชื่อบุคคลอื่นของจำเลยนั้น ก็เป็นเพียงพยาน หลักฐานชิ้นหนึ่งเพื่อเป็นการสนับสนุนว่าจำเลยได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยื่นคำขอทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมดังกล่าวเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าลายมือชื่อที่ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้นั้น จำเลยไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้จำเลยยังได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การ ยอมรับว่าจำเลยได้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่นายประสิทธิ์ได้ขอบัตรประจำตัวประชาชนจากชาวบ้าน โดยจำเลยได้อ้างว่าคนที่รับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากชาวบ้านดังกล่าวชื่อนายบอยซึ่งเป็นนักศึกษาที่จำเลยรู้จักกันมาก่อน แต่ในชั้นสอบสวนก็ดีในชั้นพิจารณาก็ดีจำเลยก็ไม่สามารถนำเจ้าพนักงานตำรวจไปติดตามหรือจับกุมบุคคลที่ชื่อนายบอยตามที่จำเลยกล่าวอ้างนั้นได้ นอกจากนี้โจทก์มีพยานปาก พันตำรวจโทกรกต ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน เบิกความว่า หลังจากได้รับคำร้องทุกข์แล้ว พยานได้เป็น ผู้สอบปากคำผู้เสียหาย 12 คน ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อได้พิเคราะห์บันทึกคำให้การพยานของผู้เสียหายดังกล่าวแล้ว ผู้เสียหายดังกล่าวต่างให้การต่อพนักงานสอบสวนสอดคล้องกับคำเบิกความของนายสุรสิทธิ์ โดยต่างยืนยันว่านายสุรสิทธิ์เป็นผู้มาขอบัตรประจำตัวประชาชนโดยอ้างว่าจะไปเข้าชมรมต่อต้านยาเสพติดและพยานทุกปากต่างสมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจึงได้มอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้นายสุรสิทธิ์ไป และหลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 16 จึงได้มีหนังสือทวงถามชำระหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ โดยมีบุคคลนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปยื่นคำขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 พยานโจทก์ตามที่นำสืบจึงต่อเนื่องเชื่อมโยง และรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้ติดต่อกับนายสุรสิทธิ์เพื่อให้นายสุรสิทธิ์ไปขอบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 แล้วถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวและไปประกอบการยื่นคำขอและทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์จริง การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายทั้ง 15 คน โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าโครงการต่อต้านยาเสพติด แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารเพื่อยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และ 341 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามฟ้องดังกล่าวมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พยานจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุลดโทษและรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะกล่าวอ้างว่าไม่เคยต้องโทษใดๆ มาก่อน และกระทำความผิดโดย โง่เขลาเบาปัญญานั้น แต่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายจำนวนมาก ทั้งยังไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยก็มิได้บรรเทาผลร้ายใดๆ แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 16 แต่ประการใด แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังได้บางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและข้อนำสืบในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงเห็นควรให้ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share