แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาตามยอม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งว่า ค่าขึ้นศาลมีเพียง 200 บาท จึงไม่คืนให้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยวางเงินค่าขึ้นอุทธรณ์เป็นเงิน 75,000 บาท ความผิดพลาดจึงเกิดเพราะความผิดหลงในข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งความผิดพลาดในเรื่องการคืนค่าขึ้นศาลให้แก่จำเลยนี้เป็นคนละส่วนกับข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความซึ่งไม่มีข้อผิดพลาด แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่าค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็เป็นข้อตกลงระหว่างคู่ความในเรื่องความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างกันเท่านั้นไม่เกี่ยวกับการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาล เมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดโดยสัญญาหรือการประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นเรื่องตามป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้องตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 โดยให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 65,000 บาท แก่จำเลย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยตกลงยอมส่งมอบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70-0243 อ่างทอง และ 70-0247 อ่างทอง ซึ่งเป็นทรัพย์ที่พิพาทให้แก่โจทก์พร้อมกับไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่วให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน และให้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 พร้อมกับสั่งค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ว่า ส่วนค่าขึ้นศาลมีเพียง 200 บาท จึงไม่คืนให้
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ถึงแก่ความตาย นางดวงตา ภริยาและทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาต
จำเลยยื่นคำร้องว่า เดิมจำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2550 จำเลยได้วางค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 200 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์ 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกโจทก์จำเลยมาเพื่อกำหนดราคาทรัพย์พิพาทเพื่อเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่ม ซึ่งโจทก์จำเลยตกลงกำหนดราคาทรัพย์พิพาทเป็นเงิน 3,000,000 บาท จึงคำนวณค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ได้เป็นเงิน 75,000 บาท จำเลยได้วางเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มจนครบ 75,000 บาท แล้ว ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แต่ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งในคำพิพากษาว่า ส่วนค่าขึ้นศาลมีเพียง 200 บาท จึงไม่คืนให้ซึ่งเป็นกรณีผิดหลงเล็กน้อย เพราะจำเลยวางค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 75,000 บาท ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้ไขคำพิพากษาที่ไม่คืนค่าขึ้นศาลดังกล่าวและสั่งคืนค่าขึ้นศาลให้แก่จำเลยเป็นกรณีพิเศษ โดยคำนวณจากค่าขึ้นศาล 75,000 บาท
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอีกทั้งตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. ก็ระบุให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมนั้นย่อมรวมถึงค่าขึ้นศาลด้วย กรณีไม่อาจสั่งคืนได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกฎีกาคำสั่ง)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ว่า แม้โจทก์กับจำเลยจะตกลงให้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3. ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงจะไม่เรียกร้องค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างกันเอง หาได้หมายความรวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจสั่งคืนอันเนื่องจากการประนีประนอมยอมความด้วยไม่ แม้เป็นการแก้ไขคำพิพากษา ก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคู่ความอีกฝ่ายไม่เสียเปรียบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มีเพียง 200 บาท จึงไม่สั่งคืนจึงเกิดจากกรณีผิดหลงอย่างแจ้งชัดนั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาตามยอม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งว่าค่าขึ้นศาลมีเพียง 200 บาท จึงไม่คืนให้ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 75,000 บาท ความผิดพลาดจึงเกิดเพราะความผิดหลงในข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งความผิดพลาดในเรื่องการคืนค่าขึ้นศาลให้แก่จำเลยนี้เป็นคนละส่วนกับข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความซึ่งไม่มีข้อผิดพลาดอะไร แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่าค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็เป็นข้อตกลงระหว่างคู่ความในเรื่องความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างกันเท่านั้นไม่เกี่ยวกับการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาล เมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดโดยสัญญาหรือการประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 65,000 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ