คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณา จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครือข่ายหลายแห่งกว่ามีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใคร โรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่ามีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล” ดังนั้น การที่จำเลยระบุในแผ่นพับในช่องผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ช่องขนาดโรงพยาบาลว่า โจทก์มี 150 เตียง ช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่าโจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 423

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 150,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนถึงวันที่จำเลยหยุดกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยให้การว่า ขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียงการทำมาหาได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 พฤศจิกายน 2541) จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยได้ออกแผ่นพับโฆษณาโรงพยาบาลของจำเลยโดยมีข้อความพาดพิงถึงโรงพยาบาลของโจทก์ตามใบโฆษณาแผ่นพับเอกสารหมาย จ.20 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงความเสียหายที่ได้รับสภาพกิจการ รายรับรายจ่ายในการประกอบกิจการ คำฟ้องในส่วนค่าเสียหายจึงไม่แจ้งชัดและไม่แสดงถึงการคิดค่าเสียหาย จึงไม่ทราบว่าโจทก์เสียหายอย่างไร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่า จำเลยโฆษณาโรงพยาบาลของจำเลยโดยเสนอแผ่นพับต่อประชาชนและใบแผ่นพับดังกล่าวมีข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพโรงพยาบาลของจำเลยกับโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลของโจทก์ด้วยและข้อมูลในแผ่นพับชี้ในทำนองว่าศักยภาพของโรงพยาบาลโจทก์ด้อยกว่าโรงพยาบาลของจำเลย ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง และล่วงละเมิดต่อสิทธิประโยชน์ซึ่งโจทก์มีอยู่ซึ่งคำบรรยายฟ้องของโจทก์สามารถทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์เสียหายอย่างใด ส่วนการคิดค่าเสียหายโจทก์คิดค่าเสียหายจากการที่โจทก์มีคนไข้ลดลงซึ่งทำให้รายได้ของโจทก์น้อยลงส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเรื่องที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การทำแผ่นพับโฆษณาของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดหรือทำให้โจทก์เสียหาย เห็นว่า ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณาตามเอกสารหมาย จ.20 จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครื่อข่ายหลายแห่งกว่า มีประสบการณ์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใครโรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่า มีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศ หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงหรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล” ดังนั้น จากการที่จำเลยระบุในแผ่นพับตามเอกสารหมาย จ.20 ในช่องจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ระบุในช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ระบุในช่องขนาดโรงพยาบาลว่าโจทก์มี 150 เตียง และระบุในช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่า โจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า การโฆษณาของจำเลยดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 ดังกล่าวแล้ว และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 423 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยในประการสุดท้ายว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท ส่วนจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้กระทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์แต่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้วินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ซึ่งในข้อนี้ปรากฏว่านายแพทย์สุดชาย กรรมการโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์เรียกเก็บจากคนไข้ของโจทก์สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ และในช่วงเวลานั้นมีผู้ป่วยใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น จึงน่าเชื่อว่า การที่มีผู้ใช้บริการของโจทก์ลดลงน่าจะมีผลกระทบมาจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำด้วย โดยโจทก์ไม่อาจนำสืบถึงค่าเสียหายได้ชัดเจน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท จึงเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์และจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share