คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2221/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การธนกิจ มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งในการจัดหาวัสดุการเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก การที่จำเลยซื้อปุ๋ยทั้งสองรายการไปจากโจทก์ก็เพื่อที่จะนำไปจำหน่ายแก่สมาชิกอีกทอดหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการฝ่ายลูกหนี้หรือจำเลยนั้นเอง เมื่อจำเลยมิได้ซื้อปุ๋ยไปจากโจทก์เพื่อใช้เอง แต่ได้ใช้ประกอบกิจการของจำเลยเพื่อแสวงหาประโยชน์ต่อไปอีกทอดหนึ่ง จึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้มีอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่ศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ศาลจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยนั้น เป็นการให้ความสะดวกแก่จำเลยและพยานจำเลยในการที่จะมาเบิกความต่อศาล แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยานประเด็นจำเลย ทนายจำเลยกลับแถลงว่าพยานจำเลยปาก ส. และ ว. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นพยานนำไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ส่วนพยานอีก 2 ปากคือ ช. และ พ. ซึ่งเป็นพยานหมายไม่มาศาลโดยไม่ทราบผลการส่งหมาย และแถลงรับว่าไม่ได้เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบในวันดังกล่าว ขอเลื่อนคดี หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและส่งประเด็นคืนก็จะเตรียมพยานจำเลยไปสืบที่ศาลเดิม ศาลจังหวัดนครนายกมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้ส่งประเด็นคืนศาลเดิม ในวันนัดฟังประเด็นกลับทนายจำเลยขอสืบพยานจำเลยทั้งสี่ปากโดยจะนำพยานสืบเองและขอเลื่อนอีก กรณีดังกล่าวมิใช่เหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีโดยให้งดสืบพยานจำเลยนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 287,709.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 228,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าไม่เคยสั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจากโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกค่าปุ๋ยที่ได้ส่งมอบเกิน 2 ปี นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าสินค้า คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 ขอให้ยกฟ้อง
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ ศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยรวม 4 ปากตามคำขอของจำเลย แต่เมื่อถึงวันนัด จำเลยไม่มีพยานมาศาล ศาลรับประเด็นจึงส่งประเด็นคืน ครั้นถึงวันนัดฟังประเด็นกลับ จำเลยแถลงขอสืบพยานจำเลยทั้ง 4 ปากดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นโดยขอเลื่อนคดีออกไปก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตและงดสืบพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 287,582.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 228,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การธนกิจ อยู่ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2543 และวันที่ 11 พฤษภาคม 2543 โจทก์ส่งสินค้าปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่จำเลยรวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 228,000 บาท ในนามของจำเลย โดยมีนายวิเชียร ประธานกรรมการสหกรณ์จำเลยเป็นผู้รับมอบสินค้า มีกำหนดเวลาชำระเงินภายใน 90 วันนับแต่วันรับสินค้า แต่เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ได้รับชำระราคาค่าสินค้า
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยซื้อสินค้าปุ๋ยดังกล่าวจากโจทก์หรือไม่ ได้ความจากนายกิตติ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์มาตั้งแต่ปี 2542 โดยสั่งซื้อสินค้าประเภทปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำไปจำหน่ายแก่กลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ในการสั่งซื้อปุ๋ยที่พิพาททั้งสองครั้งนายวิเชียรประธานกรรมการสหกรณ์จำเลยสั่งซื้อในนามของจำเลยและเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับมอบสินค้า ซึ่งตามใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ก็มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อ มิได้มีข้อความปรากฏว่านายวิเชียรสั่งซื้อในฐานะส่วนตัวดังที่จำเลยฎีกา การที่นายวิเชียรซึ่งอยู่ในฐานะเป็นประธานกรรมการจำเลยและมีอำนาจจัดการแทนจำเลยได้กระทำการสั่งซื้อและรับมอบปุ๋ยจากโจทก์ ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่จะต้องชำระหนี้ค่าปุ๋ยทั้งสองรายการตามฟ้อง จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้รับฟังได้ตามข้อต่อสู้ว่านายวิเชียรกระทำการในฐานะส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยซื้อสินค้าปุ๋ยที่พิพาททั้งสองตามฟ้องจากโจทก์จริง จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าปุ๋ยทั้งสองรายการตามฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเลือกฟ้องจำเลยที่ศาลแขวงราชบุรี ทั้งๆ ที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยในคดีอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่ศาลจังหวัดนครนายก เป็นทำนองว่าเมื่อโจทก์ตรวจสอบและทราบถึงแนวทางการต่อสู้คดีของจำเลยแล้ว จึงมาฟ้องคดีที่ศาลแขวงราชบุรีดังกล่าว เห็นว่า การเสนอคำฟ้องนั้นสามารถกระทำได้ต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) จึงเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกฟ้องจำเลยต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นก็ได้ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์อยู่ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จำเลยสั่งซื้อปุ๋ยจากโจทก์โดยมูลคดีเกิดขึ้นที่ภูมิลำเนาของโจทก์คือจังหวัดราชบุรี จำเลยเพียงแต่ให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้สั่งซื้อปุ๋ยจากโจทก์เท่านั้น มิได้โต้แย้งว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดนครนายกอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยหรือสถานที่อื่น ดังนั้น จึงต้องฟังว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดราชบุรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลแขวงราชบุรี อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น
ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การธนกิจ มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งในการจัดหาวัสดุการเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิกการที่จำเลยซื้อปุ๋ยทั้งสองรายการไปจากโจทก์ก็เพื่อที่จะนำไปจำหน่ายแก่สมาชิกอีกทอดหนึ่ง จึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการฝ่ายลูกหนี้หรือจำเลยนั้นเองเมื่อจำเลยมิได้ซื้อปุ๋ยไปจากโจทก์เพื่อใช้เอง แต่ได้ใช้ประกอบกิจการของจำเลยเพื่อแสวงหาประโยชน์ต่อไปอีกทอดหนึ่ง จึงต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้มีอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5) มิใช่มีอายุความสองปีดังที่จำเลยฎีกา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดห้าปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีงดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว จำเลยขอให้ส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยรวม 4 ปาก ที่ศาลจังหวัดนครนายกอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย เมื่อถึงวันนัดสืบพยานประเด็นจำเลย ทนายจำเลยกลับแถลงว่าพยานจำเลยปากนายสมเกียรติ และนางวรรณา กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นพยานนำไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ส่วนพยานจำเลยอีก 2 ปาก คือ นายวิเชียร และนายไพศาล ซึ่งเป็นพยานหมายไม่มาศาลโดยไม่ทราบผลการส่งหมาย จึงขอเลื่อนคดี ทนายจำเลยยังได้แถลงรับด้วยไม่ได้เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบในวันดังกล่าว หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและส่งประเด็นคืน ก็จะเตรียมพยานจำเลยไปสืบที่ศาลเดิม ศาลจังหวัดนครนายกมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้ส่งประเด็นคืนศาลเดิม ต่อมาในวันนัดฟังประเด็นกลับวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 ทนายจำเลยขอสืบพยานจำเลยทั้งสี่ปาก โดยจะนำพยานมาสืบเอง ขอให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยอีก เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ศาลจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยนั้น เป็นการให้ความสะดวกแก่จำเลยและพยานจำเลยในการที่จะมาเบิกความต่อศาล แต่ได้ความว่าทั้งนายสมเกียรติและนางวรรณาซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยกลับไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องใดๆ ส่วนพยานจำเลยที่เหลืออีก 2 ปาก คือนายวิเชียรและนายไพศาลก็ไม่มาศาลโดยทนายจำเลยแถลงว่าไม่ทราบผลการส่งหมาย กรณีดังกล่าวมิใช่เหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีโดยให้งดสืบพยานจำเลย จึงชอบแล้วนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share