คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่จากบ้านเลขที่ 703 เป็นบ้านเลขที่ 9/81 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2550 และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2550 นอกจากนี้ตามคำแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2551 และหนังสือมอบอำนาจแนบท้ายคำแถลงรวมทั้งหนังสือรับรองของโจทก์ที่โจทก์แนบมาท้ายคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาก็ได้ระบุภูมิลำเนาแห่งใหม่ของโจทก์ไว้ กรณีจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ ที่ทำการใหม่แล้ว ตั้งแต่ก่อนวันที่เจ้าหน้าที่ศาลนำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่ง ดังนั้น การส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ตามภูมิลำเนาเดิมโดยวิธีปิดหมายจึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าโจทก์รับหมายนัดและสำเนาฎีกาแล้ว เมื่อศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ใหม่ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่ามีเหตุสมควรขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาให้โจทก์หรือไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยและมีคำสั่งให้ส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลว่าได้นำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่งให้แก่โจทก์ที่บ้านเลขที่ 703 อาคารรัชฎาสวีท ถนนวงศ์สว่าง แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2551 และสามารถส่งให้ได้โดยวิธีปิดหมาย ครั้นวันที่ 9 ธันวาคม 2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาโดยอ้างว่า โจทก์ได้ย้ายสำนักงานแห่งใหญ่จากบ้านเลขที่ 703 ไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 9/81 ซอยรัชประชา 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครแล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับหมายนัดและสำเนาฎีกา เป็นเหตุให้ไม่สามารถยื่นคำแก้ฎีกาได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่ปรากฏว่าโจทก์ย้ายภูมิลำเนาไปก่อนส่งสำเนาฎีกา ประกอบกับได้มีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาแล้วจึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์มายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาของโจทก์ โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของโจทก์มายังศาลฎีกาเป็นการไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาและพิพากษา ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ได้ย้ายสำนักงานแห่งใหญ่จากบ้านเลขที่ 703 ไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 9/81 ซอยรัชประชา 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 อันเป็นเวลาก่อนการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาในคดีนี้ และหากเจ้าหน้าที่ศาลได้นำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่งให้แก่โจทก์ที่บ้านเลขที่ 703 โดยวิธีปิดหมายจริง บุคคลที่เฝ้าอาคารดังกล่าวก็จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ซึ่งหากโจทก์ทราบว่ามีการส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์แก้ โจทก์ก็ต้องยื่นคำแก้ฎีกาอย่างแน่นอน เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 3 ว่า โจทก์ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่จากบ้านเลขที่ 703 อาคารรัชฎาสวีท ถนนวงศ์สว่าง แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นบ้านเลขที่ 9/81 ซอยรัชประชา 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2550 และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2550 นอกจากนี้ตามคำแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2551 และหนังสือมอบอำนาจแนบท้ายคำแถลง รวมทั้งหนังสือรับรองของโจทก์ที่โจทก์แนบมาท้ายคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาก็ได้ระบุภูมิลำเนาแห่งใหม่ของโจทก์ไว้ กรณีจึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ ที่ทำการแห่งใหม่แล้วตั้งแต่ก่อนวันที่เจ้าหน้าที่ศาลนำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่ง ดังนั้น การส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ตามภูมิลำเนาเดิมโดยวิธีปิดหมายจึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับหมายนัดและสำเนาฎีกาแล้ว เมื่อศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ใหม่ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่ามีเหตุสมควรขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาให้โจทก์หรือไม่”
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ใหม่ แล้วดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับในชั้นนี้ในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share