แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับมอบเครื่องอุปกรณ์การทำอาหารกระป๋องของโจทก์ไปเพื่อใช้ผลิตมะเขือเทศกระป๋องตกลงกันว่าในภายหน้าหากตกลงราคากันได้จำเลยก็จะรับซื้อไว้หากตกลงกันไม่ได้ จำเลยจะคืนเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวให้ ต่อมาจำเลยไม่รับซื้อและส่งคืนอุปกรณ์ให้โจทก์เพียงบางส่วนโจทก์ไม่รับคืนทั้งที่แยกใช้ได้เป็นส่วน ๆ เป็นการไม่บรรเทาความเสียหาย การที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวไม่ส่งเครื่องอุปกรณ์ในจำนวนส่วนที่เหลือจึงเป็นการครอบครองทรัพย์ของโจทก์ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนนี้ต่อมาจนถึงวันส่งมอบ
แม้เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวที่เหลืออยู่จะเป็นส่วนใหญ่แต่ประโยชน์การใช้สอยที่โจทก์สามารถให้เช่าได้จะเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใดไม่ปรากฏ ศาลกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 60,000 บาท กับดอกเบี้ยเพราะไม่ส่งคืนเครื่องอุปกรณ์ในการทำอาหารกระป๋องแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยได้รับมอบเครื่องอุปกรณ์การทำอาหารกระป๋องรวม 12 รายการตามเอกสารหมาย จ.2 ของโจทก์ไปเพื่อใช้ผลิตมะเขือเทศกระป๋องของจำเลย โดยโจทก์จำเลยตกลงกันว่า ถ้าภายหน้าทั้งสองฝ่ายตกลงราคาซื้อขายกันได้ จำเลยก็จะรับซื้อไว้ หากตกลงกันไม่ได้จำเลยจะส่งเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวคืนโจทก์ ครั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2518 โจทก์โดยนางกระมล ปัทมพงศ์ กรรมการได้แจ้งแก่นายโมเดอร์ไฮ กราเซลนิคตัวแทนของจำเลยขณะนั้นให้ทราบว่า โจทก์ต้องการขายเครื่องอุปกรณ์ในราคา 500,000 บาท นายโมเดอร์ไฮ กราเซลนิค จะให้ราคา 100,000 บาท การซื้อขายจึงไม่เป็นที่ตกลงกัน และในวันนั้นนางกระมล ปัทมพงศ์ ก็ให้จำเลยส่งเครื่องอุปกรณ์ที่จำเลยรับไปคืนโจทก์ แต่จำเลยไม่ส่งคืนจนต่อมาปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 ประกอบการนำสืบของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2519 จำเลยได้ส่งเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวบางส่วนมาแต่โจทก์ไม่ได้รับไว้ และวันที่ 3 มิถุนายน 2520 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยได้คืนเครื่องอุปกรณ์ส่วนใหญ่ให้แก่โจทก์แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการไม่ส่งคืนเครื่องอุปกรณ์ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นรายเดือนคิดนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2518 จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2520 ได้หรือไม่ และเรียกค่าเสียหายได้เพียงใด” ฯลฯ
“ข้อเท็จจริงเชื่อทางฝ่ายจำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2519 จำเลยได้นำเครื่องอุปกรณ์การทำอาหารกระป๋องบางส่วนจำนวน 1 คันรถยนต์บรรทุกมาเพื่อส่งคืนโจทก์ แต่ฝ่ายโจทก์ไม่ยอมรับไว้ ทั้ง ๆ ที่เครื่องอุปกรณ์นี้เป็นชิ้นส่วนที่แยกใช้ได้ต่างหากโดยบริบูรณ์ไม่จำต้องนำชิ้นส่วนของเครื่องอุปกรณ์จำนวนที่เหลือทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์ไม่บรรเทาผลร้ายที่จะเกิดขึ้นเอง จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับเครื่องอุปกรณ์บางส่วนที่จำเลยนำมาส่งมอบดังกล่าวข้างต้นต่อไป ปัญหาที่ต้องพิจารณาคงเหลือเฉพาะเครื่องอุปกรณ์จำนวนที่เหลือซึ่งจำเลยเพิ่งส่งมอบให้โจทก์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2520 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วว่า จำเลยยังจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เครื่องอุปกรณ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังเหลืออยู่ในครอบครองของจำเลยนี้ จำเลยมิได้มีเจตนาจะส่งมอบในคราวเดียวกับที่จำเลยนำเครื่องอุปกรณ์จำนวนแรกมาเพื่อส่งคืนโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2519 ทั้งนี้ ปรากฏชัดจากคำเบิกความของนายอุทัย รัตนดำรงค์อักษรผู้จัดการฝ่ายซ่อมและบำรุงเครื่องจักรของจำเลยขณะนั้นว่า การที่ส่งเครื่องจักรคืนให้โจทก์ไม่ครบในครั้งเดียวเพราะบางเครื่องยังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ เพราะเห็นว่าพอจะใช้การได้ในการผลิตของจำเลยฉะนั้นที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวไม่ส่งเครื่องอุปกรณ์ในจำนวนส่วนที่เหลือจึงเป็นการครอบครองทรัพย์ของโจทก์ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ต่อมาจนถึงวันส่งมอบ คือวันที่ 3 มิถุนายน 2520 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หลังจากวันที่ 3 พฤษภาคม 2519 ทั้งหมด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย” ฯลฯ
“เมื่อพิจารณาถึงเครื่องอุปกรณ์ตามฟ้องเป็นของที่โจทก์ซื้อมาเป็นเวลา 8 ปีแล้วจะเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้หรือให้ผู้ใดเช่ามาก่อน เครื่องอุปกรณ์จึงกลายเป็นของเก่าเพราะเก็บมานาน แม้จำเลยจะมิได้นำสืบคัดค้านในข้อนี้ ก็เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2518 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2519 เดือนละ 10,000 บาท รวม 60,000 บาท เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุจะแก้ไข สำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งจำเลยยังครอบครองใช้สอยอยู่ต่อมาและเพิ่งส่งมอบให้โจทก์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2520 จำเลยควรรับผิดชดใช้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่าแม้เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวที่เหลืออยู่ จะเป็นส่วนใหญ่ แต่ประโยชน์การใช้สอยที่โจทก์สามารถให้เช่าได้จะเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใดไม่ปรากฏศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้จำเลยรับผิดเดือนละ 5,000 บาท นับจากวันที่ 4 พฤษภาคม 2519 ถึงวันฟ้องวันที่ 3 ธันวาคม 2519 ระยะเวลา7 เดือนเป็นเงิน 35,000 บาท รวมกับค่าเสียหาย 60,000 บาทข้างต้นเป็นจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน95,000 บาท กับจำเลยต้องชดใช้ต่อจากวันฟ้องไปจนถึงวันที่ 3 มิถุนายน2520 ระยะเวลา 6 เดือน เป็นเงินอีกจำนวน 30,000 บาทด้วย รวมค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 125,000 บาท
พิพากษาแก้ เป็นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในต้นเงินค่าเสียหาย 95,000 บาท คิดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเฉพาะค่าขึ้นศาลคิดเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กับค่าทนายความในชั้นนี้อีก 1,000 บาทแทนโจทก์”