คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2922/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 เห็นได้ว่าสัญญาจ้างแรงงานจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคู่กรณีได้ตกลงกัน การที่จำเลยเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์และโจทก์ทำงานให้จำเลย จะนับว่าจำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ยังไม่ได้ บริษัท ฟ. เป็นผู้ตกลงรับโจทก์เข้าทำงาน สัญญาจ้างแรงงานจึงเกิดขึ้นระหว่างบริษัทฟ.กับโจทก์ แม้บริษัท ฟ. มอบหมายให้โจทก์ไปทำงานในต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยกับจำเลยซึ่งเป็นสาขาประเทศไทยสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับบริษัท ฟ. ก็ยังคงมีอยู่ตลอดมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าจำเลยเลิกสัญญาจ้างโจทก์โดยมิชอบ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ฟ.ในสหรัฐอเมริกาโดยตรง มิใช่ลูกจ้างของจำเลย การที่บริษัท ฟ. ย้ายโจทก์กลับไปทำงานในสหรัฐอเมริกาเป็นการโยกย้ายหน้าที่ตามที่นายจ้างใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควร หาใช่เป็นการเลิกจ้างไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของบริษัทฟลูออร์ โอเซี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด ในฮิวสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อโจทก์สมัครเข้าทำงานครั้งแรกได้ไปสมัครที่บริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยนเซอร์วิสเซส จำกัด ที่เมืองฮิวสตัน บริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้สัมภาษณ์โจทก์และรับโจทก์เข้าทำงานกับบริษัทดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ในการทำงาน บริษัท ฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด เคยมอบหมายงานให้โจทก์เดินทางไปทำงานกับบริษัทจำเลยที่ 1 นอกประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่สองที่ดูไบ เหตุที่โจทก์เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เนื่องจากบริษัท ฟลูออร์ โอเชี่ยนเซอร์วิสเซส จำกัด มอบหมายให้โจทก์มาทำงานเช่นเดียวกับที่เคยมอบหมายให้ไปทำงานที่ประเทศอินโดนีเซียและดูไบ อัตราค่าจ้างในการทำงานที่กรุงเทพฯ โจทก์ตกลงกับบริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด โดยโจทก์ขอเพิ่มค่าอัตราที่ได้รับไปดูไบอีกเดือนละ 400-500 ดอลล่าร์สหรัฐ บริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด ตกลงให้เงินเดือนพื้นฐานเดือนละ 1,890 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้โจทก์ต่อมาหลังจากโจทก์เดินทางมาทำงานที่กรุงเทพ ฯ แล้วหลายเดือน บริษัทฟลูออร์โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด ได้ส่งเอกสารหมายเลข 8 ท้ายคำให้การมาให้โจทก์ลงชื่อ โจทก์ลงชื่อให้ ครั้นโจทก์ทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ 14 เดือน บริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด ได้สั่งย้ายโจทก์ไปทำงานที่บริษัทฟลูออร์โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด ที่ฮิวสตัน ชั้นแรกโจทก์ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งโดยได้ทำอนุมัติเพื่อเตรียมการย้าย ได้ขอให้จำเลยที่ 1 ซื้อตั๋วเครื่องบินสำหรับโจทก์และครอบครัว และโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้ว ทั้งยังบอกเลิกเช่าบ้านโดยระบุว่าจะย้ายไปประจำสำนักงานใหญ่ที่เมืองฮิวสตัน แต่ต่อมาโจทก์ไม่เดินทางและฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

โจทก์อุทธรณ์เป็นประการแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ในขณะที่โจทก์ทำงานให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 บริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ตามคำจำกัดความของคำว่า “นายจ้าง” ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และคำจำกัดความของคำว่า”ลูกจ้าง” ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 บริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด หาใช่นายจ้างของโจทก์ไม่ พิเคราะห์แล้ว คำจำกัดความของคำว่า “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ก็ดี พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก็ดีเป็นการกำหนดความหมายของคำว่า “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ที่ใช้ในประกาศและพระราชบัญญัตินั้น คดีนี้มิได้พิพาทกันเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงจะนำคำจำกัดความตามประกาศและพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้ไม่ได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้”เห็นได้ว่าสัญญาจ้างแรงงานจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคู่กรณีได้ตกลงกัน เพียงแต่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์และโจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 1 จะนับว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของโจทก์ยังมิได้ โจทก์สมัครเข้าทำงานกับบริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทดังกล่าวตกลงรับโจทก์เข้าทำงาน สัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด กับโจทก์จึงเกิดขึ้น บริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด มอบหมายให้โจทก์ไปทำงานให้บริษัทจำเลยที่ 1 ในประเทศอินโดนีเซียและที่ดูไบ และต่อมาได้มอบหมายให้โจทก์มาทำงานให้จำเลยที่ 1 สาขาประเทศไทย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัทฟลูออร์ โอเซี่ยน เซอร์วิสเซสจำกัด ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องกันตลอดมา ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด จึงชอบแล้ว

โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า เอกสารท้ายคำให้การหมาย 8 เป็นข้อตกลงและเงื่อนไขของการทำงานระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ จึงถือได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 พิเคราะห์แล้วได้ความว่า เอกสารฉบับนี้บริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ส่งมาให้โจทก์ลงชื่อและโจทก์ได้ลงชื่อให้ หัวของเอกสารฉบับนี้มีข้อความว่า “เงื่อนไขและข้อกำหนดเกี่ยวกับการย้ายไปปฏิบัติงานในประเทศไทย บริษัทฟลูออร์ โอเชี่ยน เซอร์วิสเซส อินเตอร์เนชั่นแนล สาขาประเทศไทย” ข้อความภายในเป็นเรื่องสถานที่และระยะเวลาที่โจทก์จะต้องทำงานในประเทศไทยค่าตอบแทนและประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์จะได้รับ ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่โจทก์จะต้องปฏิบัติ เป็นต้นปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้ลงชื่อในเอกสาร ฉบับนี้แต่อย่างใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงผูกพันตามเอกสารฉบับนี้ด้วย ข้อความที่หัวเอกสารที่มีชื่อจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น มีความหมายว่า เป็นเงื่อนไขและข้อกำหนดเกี่ยวกับการย้ายโจทก์มาปฏิบัติงานในประเทศไทย ณ บริษัทจำเลยที่ 1 สาขาประเทศไทย มิได้หมายความว่าเป็นข้อตกลงของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย 8 ท้ายคำให้การจึงไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ไม่มีสัญญาต่อกัน จำเลยที่ 1 จึงหาได้ปฏิบัติผิดสัญญาไม่”

พิพากษายืน

Share