แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำเหมืองแร่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่โดยตรง เจ้าพนักงานผู้พิจารณาเรื่องราวตามพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ ศาลย่อมจะไม่พึงใช้อำนาจเข้าไปสอดแทรกแต่ประการใด
การปฏิบัติของเจ้าพนักงานในการพิจารณาเรื่องราวขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทันทีและใช้ดุลพินิจสั่งการอันถือว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินทำเหมืองแร่ ๒ แปลง ตั้งอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมเป็น (ที่ดินมี) ประทานบัตร ที่ ๕๖๐๗/๖๓๔๓ และเป็นที่ขังมูลดินทรายของนายเล่ง สุกจั่น ต่อมาโจทก์ทราบว่านายเล่ง สุกจั่นตายที่ประเทศจีน (ที่ดิน) ประทานบัตรและที่ขังมูลทราย ๒ แปลงนี้จึงตกเป็นที่ว่างเปล่า หมดอายุตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๔๖ โจทก์จึงยื่นเรื่องราวขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทับที่ทั้ง ๒ แปลงนี้ ต่อโลหกิจจังหวัดสุราษฎร์ธานี โลหกิจจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับเรื่องราวของโจทก์และจดทะเบียนแปลงที่ ๑ ไว้เป็นเรื่องราวที่ ๑๘/๒๕๐๐ แปลงที่ ๒ เป็นเรื่องราวที่ ๑๙/๒๕๐๐ โดยโจทก์ได้วางเงินค่าธรรมเนียมไว้ครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๑ โดยโลหกิจจังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ตัวแทนของจำเลยทั้งสาม ได้สั่งยกเลิกเรื่องราวที่ ๑๘/๒๕๐๐ นั้นเสีย โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อกรมโลหกิจจำเลยที่ ๒ ๆ ได้แจ้งให้โจทก์ทราบความว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบตามที่จังหวัดสั่งยกเลิก กรมโลหกิจมิอาจที่จะสั่งยกเลิกคำสั่งของจังหวัด และการที่จะสั่งให้ประทานบัตรสิ้นอายุหรือสั่งให้ดำเนินเรื่องราวขอประทานบัตรที่ได้สั่งยกเลิกไปแล้ว
ก็ย่อมจะทำมิได้ การกระทำของจำเลยทั้งสาม โจทก์ถือว่าร่วมกันมีคำสั่งและกระทำการโดยมิชอบ ทำให้โจทก์เสียหาย คือเสียสิทธิที่จะได้รับประทานบัตร ขอให้พิพากษาแสดงว่าเรื่องราวขอประทานบัตรตามฟ้องนั้นเป็นเรื่องราวอันชอบด้วยพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๔๖ ให้ศาลสั่งเพิกถอนทำลายคำสั่งยกเลิกของจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันดำเนินการออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่ให้โจทก์
จำเลยที่ ๒, ๓ ขาดนัด จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมาย และรูปคดีของโจทก์ไม่มีทางที่จะใช้สิทธิทางศาลได้ จำเลยที่ ๑ ได้สั่งยกเลิกเรื่องราวที่ ๑๘/๒๕๐๐ โดยจำเลยมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเรื่องราวที่ ๑๙/๒๕๐๐ จะได้พิจารณาสั่งยกเลิกต่อไป สิทธิการทำเหมืองแร่เป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำก็ได้ หรือจะไม่อนุญาตก็ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับ กับให้การต่อสู้เป็นประการอื่นด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องว่า ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๘๕ แสดงให้เห็นว่า การที่จะอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำเหมืองแร่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้โดยตรง และมาตรา ๒๑ ข้อ ๓ วรรคสุดท้ายแห่งพระราชบัญญัติฉบับ พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็มีความหมายว่า เจ้าพนักงานผู้พิจารณาเรื่องราวตามพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ ฉะนั้น เมื่อเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลย่อมจะไม่พึงใช้อำนาจเข้าไปสอดแทรกแต่ประการใด
โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบความว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบตามที่จังหวัดสั่งยกเลิกเรื่องราวของโจทก์ และได้สั่งให้จังหวัดทำการสอบสวนเรื่องนายเล่ง สุกจั่น ว่าถึงแก่กรรมไปแล้วจริงหรือไม่ จากการสอบสวนปรากฏว่าบุตรีบุตรเขย ฯลฯ ต่างให้การยืนยันว่า ในขณะนี้นายเล่ง สุกจั่น ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ และไม่มีผู้ใดสามารถนำหลักฐานมาหักล้างคำให้การดังกล่าวได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงถือว่านายเล่ง สุกจั่น ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนเอกสารที่โจทก์ส่งไปกรมโลหกิจเห็นว่า เป็นแต่เพียงคำให้การเท่านั้น จะเชื่อหรือถือเป็นหลักฐานทางราชการมิได้ ดังนี้ สรุปแล้วได้ความว่า เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ได้สอบสวนเรื่องที่โจทก์ว่านายเล่ง สุกจั่น ถึงแก่กรรมนั้นแล้วเห็นว่าหลักฐานของโจทก์ไม่พอที่จะหักล้างถ้อยคำของญาตินายเล่ง สุกจั่น จึงจะฟังว่านายเล่ง สุกจั่น ตายแล้วยังไม่ได้ จึงได้สั่งยกเรืองราวของโจทก์เสีย แสดงว่าจำเลยได้พิจารณาเรื่องราวของโจทก์และใช้ดุลพินิจภายในขอบเขตของกฎหมาย ฟ้องของโจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายจำเลยได้ปฏิบัติการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ที่โจทก์จะมาขอสืบพยานว่านายเล่ง สุกจั่นตายแล้วนั้น จึงเป็นการโต้แย้งความเห็นอันเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานซึ่งได้ปฏิบัติการไปภายในขอบเขตของกฎหมาย ย่อมทำไม่ได้ดังได้กล่าวแล้ว
เมื่อวินิจฉัยข้ออื่นด้วยแล้ว พิพากษายืน