คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7335/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เห็นว่าราคาค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนกำหนดให้แก่โจทก์ไม่เป็นธรรม จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2536 ดังนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสองคือ ภายในวันที่ 18 มกราคม 2537 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 18 มกราคม 2537 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 60 วัน คือต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 18 มกราคม 2538 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2538 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่งแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อพ้น 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ก็หาทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวได้ไม่ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องร้อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องจึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา – อาจณรงค์ เป็นเนื้อที่ 281 ตารางวา จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 4,500 บาท เป็นเงิน 1,264,500 บาท โจทก์ทั้งห้าได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์โดยสงวนสิทธิในการอุทธรณ์ไว้ ต่อมาจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าที่ถูกเวนคืนเป็นที่ดินที่ทำเป็นถนนส่วนบุคคลและอยู่ติดกับถนนสุคนธสวัสดิ์ซึ่งเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ช่องจราจร เชื่อมไปยังถนนสายหลักอื่นได้ ในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับที่ดินของโจทก์ทั้งห้ามีราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 30,000 บาท โจทก์ทั้งห้าควรได้รับค่าทดแทนเป็นเงิน 8,430,000 บาท จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าแล้ว 1,264,500 บาท จำเลยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งห้าอีก 7,165,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2533 ใช้บังคับจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 3 เดือน 15 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 2,306,080 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ทั้งห้าจำนวน 9,471,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสิน จากเงินจำนวน 7,165,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า เงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งห้านั้นจึงเป็นราคาที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ทั้งห้าอีก2,107,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันฟ้อง และไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 349 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ (ลาดพร้าว)กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 ไร่ 75 ตารางวา ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา – อาจณรงค์ เนื้อที่ 281 ตารางวา จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งห้าตารางวาละ 4,500 บาท เป็นเงิน 1,264,500 บาท โจทก์ทั้งห้าได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วนสายรามอินทรา – อาจณรงค์ กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.12 และรับเงินจากจำเลยไปแล้ว ต่อมาโจทก์ทั้งห้าได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2536 และต่อมาได้วินิจฉัยอุทธรณ์ว่าเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้นั้นเหมาะสมและเป็นธรรมแล้วตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2537 โจทก์ทั้งห้าจึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2538

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งห้าควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า ในคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าหลังจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 349 ตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืน ให้แก่โจทก์ทั้งห้าแล้ว โจทก์ทั้งห้าเห็นว่าราคาค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งห้าไม่เป็นธรรมจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามหนังสือลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 เอกสารหมาย จ.14 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.15 ดังนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง คือภายในวันที่ 18 มกราคม 2537 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 18 มกราคม 2537 โจทก์ทั้งห้าจึงต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 60 วัน คือต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 18 มกราคม 2538 แต่โจทก์ทั้งห้านำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2538 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงสิ้นสิทธิฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าเมื่อพ้น 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ก็หาทำให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวได้ไม่ และกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องจึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้และมิได้หยิบยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5), 246, 247 เมื่อโจทก์ทั้งห้ามิได้ใช้สิทธิฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งห้าภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป

พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share