คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คซึ่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน และเป็นเช็คมีข้อความระหว่างเส้นขีดคร่อมว่า A/C PAYEE ONLY ไปเข้าบัญชีบริษัท ภ. เป็นการกระทำตามคำสั่งของจำเลยร่วมซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท ภ. เจ้าหนี้โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการกระทำในขอบอำนาจของกรรมการโจทก์ มีผลผูกพันโจทก์ นอกจากนี้โจทก์และบริษัท ภ. ต่างก็มีกรรมการชุดเดียวกันรวม 5 คน หากกรรมการอื่นอีก 4 คน เห็นว่าจำเลยร่วมนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีบริษัท ภ. เป็นการไม่ถูกต้อง ก็ย่อมสามารถใช้สิทธิในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภ. สั่งให้โอนเงินตามเช็คพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้อยู่แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๗,๓๕๓,๔๙๗.๔๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๗,๐๘๒,๗๙๘.๖๙ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ก่อนที่จำเลยที่ ๓ ยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๓ จากสารบบความ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสุริยะ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์… โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยร่วมถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางสันธนา ทายาทของจำเลยร่วมเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คธนาคารออมสิน สาขาภูเก็ต เช็คเลขที่ ๐๔๗๗๘๕๓ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ จำนวนเงิน ๗,๐๘๒,๗๙๘.๖๙ บาท เป็นเช็คระบุชื่อโจทก์โดยขีดคร่อมเช็คและประทับข้อความภาษาอังกฤษว่า A/C PAYEE ONLY หมายถึง ให้จ่ายเข้าบัญชีผู้มีชื่อ คือโจทก์เท่านั้น จำเลยร่วมซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทโจทก์สลักหลังเช็คพิพาทนำเข้าบัญชีบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด โดยธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาภูเก็ตมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการดำเนินการให้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้เช็คพิพาทจะมีข้อความระหว่างเส้นขีดคร่อมว่า A/C PAYEE ONLY ที่ด้านหน้า ซึ่งมีความหมายว่าต้องนำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเท่านั้นหรือเป็นทำนองห้ามเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนมือไม่ได้ก็ตาม การที่จำเลยร่วม ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์และของบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์มีผลผูกพันโจทก์ได้ตามหนังสือรับรอง นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด เพื่อเป็นการหักลบกลบหนี้กัน โดยจำเลยร่วมทำหนังสือรับรองไว้ว่า หากการกระทำดังกล่าวทำให้ธนาคารจำเลยที่ ๑ เสียหาย จำเลยร่วมในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์และบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด ยินดีรับผิดชอบชดใช้ให้แก่ธนาคารจำเลยที่ ๑ ในนามของบริษัทดังกล่าว ดังนั้น ที่ธนาคารจำเลยที่ ๑ นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด จึงเป็นการกระทำตามคำสั่งของจำเลยร่วมซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่ บริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด เจ้าหนี้โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการกระทำในขอบอำนาจของกรรมการโจทก์ มีผลผูกพันโจทก์ นอกจากนี้โจทก์และบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด ต่างก็มีกรรมการชุดเดียวกันรวม ๕ คน หากกรรมการอื่นอีก ๔ คน เห็นว่าจำเลยร่วมนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด เป็นการไม่ถูกต้องก็ย่อมสามารถใช้สิทธิในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัดสั่งให้บริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด โอนเงินตามเช็คพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้อยู่แล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยร่วมจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ .

Share