คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าหนี้และลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 จึงเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ประกอบมาตรา 229, 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 ในคดีแพ่ง ก็คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดหนี้ไปเท่านั้น ส่วนลูกหนี้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ดังนั้น หากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป และมิใช่กรณีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันลูกหนี้ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 101 เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสิทธิไล่เบี้ยในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นเงิน 5,878,480.21 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ลูกหนี้ที่ 2 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นสมควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับเป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ที่ 1 จนถึงวันที่ลูกหนี้ที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามบัญชีคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าโจทก์และหรือบริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้วก็ไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 นายสมชาย และนายวิชัย ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 กับธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และเจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 นายสมชาย และนายธวัชชัย ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 กับบริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด ตามสำเนาคำฟ้อง สัญญาแฟคเตอริ่งและสัญญาค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาโจทก์ทวงถามให้ลูกหนี้ที่ 1 เจ้าหนี้ และนายวิชัยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 เจ้าหนี้ และนายวิชัยยอมรับสภาพหนี้ว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เงินต้น 28,439,343.11 บาท ดอกเบี้ย 10,423,452.93 บาท เจ้าหนี้และนายวิชัยตกลงชำระเพียงร้อยละ 40 ของต้นเงิน คิดเป็นเงิน 11,375,737.24 บาท ส่วนดอกเบี้ยคิดเป็นเงิน 4,196,381.17 บาท ให้แก่โจทก์ ตามสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.12 ส่วนมูลหนี้ที่บริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 นายสมชายและนายธวัชชัยเป็นจำเลยให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญาแฟคเตอริ่ง ระหว่างพิจารณาลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่บริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด จนเป็นที่พอใจแล้ว บริษัทดังกล่าวจึงถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 ตามสำนวนคำพิพากษาศาลแพ่งเอกสารหมาย จ.26 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาข้อแรกว่ามูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ที่ 2 กับพวกร่วมกันเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ต่อธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์นั้น โจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด แล้ว ซึ่งมีผลทำให้บรรดาสิทธิเรียกร้องต่างๆ ที่โจทก์มีต่อลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 โอนมายังบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เมื่อบริษัทดังกล่าวได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ไว้เต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลผู้เป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในคดีล้มละลายที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว และวรรคสองของมาตราดังกล่าวให้นำบทบัญญัติดังกล่าวไปใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วมหรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 นายสมชาย และนายวิชัยได้ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 กับโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 จึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 และมาตรา 682 วรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญเสียหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้นตามมาตรา 693 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้เจ้าหนี้ยังมีสิทธิรับช่วงสิทธิของโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันได้ตามส่วนเท่าๆ กันตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 อีกด้วย เมื่อลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในภายหน้าได้ทั้งจำนวนหรือตามส่วนแล้วแต่กรณี เว้นแต่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 หรือลูกหนี้ที่ 2 แล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 เมื่อตามรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2545 และ 28 พฤษภาคม 2545 เอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในชั้นมูลหนี้ชั้นต้นอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันอันมีต่อลูกหนี้ที่ 2 ไว้เต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าต่อลูกหนี้ที่ 2 ได้ ฎีกาข้อนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 กับพวกร่วมกันเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ต่อบริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด นั้น บริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องลูกหนี้ที่ 1 เจ้าหนี้ และลูกหนี้ที่ 2 กับพวก เป็นจำเลยให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญาแฟคเตอริ่งต่อศาลแพ่ง ซึ่งต่อมาในระหว่างการพิจารณาคดี ลูกหนี้ที่ 2 ได้รับชำระหนี้ให้แก่บริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด บางส่วนจนเป็นที่พอใจแล้ว บริษัทดังกล่าวจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ศาลมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความตามสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 2 จึงเป็นกรณีที่บริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์แฟคเตอริ่ง จำกัด เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 แล้ว ทำให้ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับเจ้าหนี้ไม่ต้องรับผิดบริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด อีกต่อไป หากเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด ไปแล้วเพียงใดก็คงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเท่านั้นไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาลูกหนี้ที่ 2 ได้ จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และมาตรา 296 การที่โจทก์ในคดีแพ่งยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 เสียตามสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 2 และสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.26 ก็คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดไปเท่านั้นส่วนลูกหนี้ที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทไทยฟาร์เมอร์เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 ดังนั้น หากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทไทยฟาร์เมอร์ เฮลเลอร์ แฟคเตอริ่ง จำกัด ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับลูกหนี้ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ตามมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษากลับ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสีย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share