คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 100 ปี แม้จะเปลี่ยนโทษมาจากโทษจำคุกตลอดชีวิต 2 กระทงก็ไม่ถือว่าศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต อีกต่อไปแล้ว ยังผลให้จำเลยได้รับสิทธิในการกำหนดโทษใหม่ตามป.อ. มาตรา 91(3) ที่แก้ไขแล้ว โดยศาลต้องกำหนดโทษจำคุกจำเลยให้ใหม่เป็นจำคุกไม่เกินคนละ 50 ปี.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 25ตุลาคม 2521 ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 11 กรรมหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 83 อีกกรรมหนึ่ง ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ทั้งสองกระทง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา52 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตลอดชีวิตทั้งสองกระทง แต่เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 คนละ 100 ปี
ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2526 และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2527จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เดิมและให้ใช้ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่แทนว่าเมื่อรวมกระทงลงโทษแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกิน50 ปี อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 ขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงโทษให้ด้วย
โจทก์ไม่คัดค้านคำร้องของจำเลยที่ 3 แต่คัดค้านคำร้องของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ประกอบด้วยมาตรา 3 เป็นจำคุกคนละ 50 ปี
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับการกำหนดโทษใหม่หรือไม่ เห็นว่า ระหว่างจำเลยทั้งสองกำลังรับโทษในคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วอยู่นั้น ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 ออกใช้บังคับโดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าเดิมซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิด จึงต้องใช้มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่บังคับแก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) ด้วย มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่บัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปแต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดต่อไปนี้ …(3)ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และโดยที่กระทงที่หนักที่สุดของจำเลยทั้งสองนี้ก็คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 และ 289 ซึ่งมีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประหารชีวิต กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 91(3) และคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 100 ปี แม้จะเปลี่ยนโทษมาจากโทษจำคุกตลอดชีวิต 2 กระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เดิมก็ตามก็ไม่ถือว่าศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอีกต่อไปแล้ว จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 91(3) ที่แก้ไขใหม่ดังฎีกาของโจทก์ ต้องถือว่าเป็นการลงโทษจำคุกตามที่เปลี่ยนไปโดยผลของกฎหมายแล้ว ยังผลให้จำเลยทั้งสองไดรับสิทธิในการกำหนดโทษเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) ที่แก้ไขแล้ว โดยศาลต้องกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้ใหม่เป็นโทษจำคุกไม่เกินคนละ 50 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนกันมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share