คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21103/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ระหว่างพิจารณาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จำนวน 6 รายการ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ดังนั้น ทรัพย์สินตามคำร้องต้องด้วยข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระในการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มาตรา 29 (1) (2) ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริต ทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีรายได้จากการประกอบอาชีพขายมีด ถ่าน และไม้กวาด สัปดาห์ละ 4 วัน ผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้จากการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างสัปดาห์ละ 3 วัน รายได้จากการรับจ้างบรรทุกศพไม่แน่นอนแล้วแต่จะมีผู้ว่าจ้างไม่น่าเชื่อว่าในแต่ละเดือนจะมีเงินฝากในบัญชีแต่ละบัญชีจำนวนมาก บางเดือนมีเงินเข้าฝากหลายครั้ง และตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ร.16 และ ร.17 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 ให้การด้วยว่ารู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 แม้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 แต่ได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 2 ทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 1

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 28, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้ส่งให้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์เข้ามาในคดี
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ริบเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลกึ่งหนึ่ง ส่วนทรัพย์สินอื่นขอให้คืนแก่ผู้คัดค้านทั้งสาม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบเงินสดจำนวน 51,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย หมายเลขเครื่อง 0505534 รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน บง 3071 กำแพงเพชร สมุดเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสลกบาตร เลขที่บัญชี 627 – 1 – 34553 – 0 สมุดเงินฝากประจำ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสลกบาตร เลขที่บัญชี 627 – 2 – 05986 – 6 (ที่ถูก เลขที่บัญชี 627 – 2 – 05986 – 8) สมุดเงินฝากเผื่อเรียก ธนาคารออมสิน สาขาสลกบาตร เลขที่บัญชี 04 – 2903 – 20 – 031140 – 2 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31
ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ ดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ดังนั้น ทรัพย์สินตามคำร้องต้องด้วยข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระในการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มาตรา 29 (1) (2) ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริต ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า เงินสดจำนวน 51,000 บาท ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในการจับกุม เป็นเงินที่เตรียมไว้ซื้อมีดเพื่อนำมาขาย เงินในบัญชีธนาคารได้มาจากการขายมีด ถ่าน และไม้กวาด ผู้คัดค้านที่ 1 ขับรถยนต์รับจ้างบรรทุกศพ ขับรถยนต์รับจ้างทั่วไปและขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ส่วนบัญชีเงินฝากที่มีชื่อนางสำลีหรือผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกัน เป็นเงินที่ได้จากการขายมีดและเงินที่คนมาช่วยงานศพนางสำลี ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยังมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน ได้นำโฉนดให้เช่าประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลและยังมีรายได้จากการปล่อยเงินกู้นั้น เห็นว่า นายวิรุต บุตรชายของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เบิกความตอบผู้ร้องถามค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ช่วยกันขายมีดตามตลาดนัด เฉพาะที่มีตลาดนัด เวลากลางวัน สัปดาห์ละ 4 ครั้ง บางครั้งนายวิรุตไปช่วยขายด้วย มีรายได้ครั้งละประมาณ 2,000 ถึง 3,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างสัปดาห์ละ 3 วัน การขับรถยนต์บรรทุกศพไม่แน่นอนแล้วแต่จะมีผู้ว่าจ้าง รายได้ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 พอมีพอกินในครอบครัว และตามบันทึกถ้อยคำของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เอกสารหมาย ร.16 ถึง ร.18 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ช่วยผู้คัดค้านที่ 1 ขายมีด ถ่าน และไม้กวาด รายได้จากการประกอบอาชีพเพียงพอใช้จ่ายในครอบครัว นางสำลีมาพักอาศัยอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประกอบอาชีพขายมีด เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีรายได้จากการประกอบอาชีพขายมีด ถ่าน และไม้กวาด สัปดาห์ละ 4 วัน ผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้จากการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างสัปดาห์ละ 3 วัน รายได้จากการรับจ้างบรรทุกศพไม่แน่นอนแล้วแต่จะมีผู้ว่าจ้าง นายสวิช และเจ้าอาวาสวัดหงส์ทอง พยานที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างไม่อาจยืนยันถึงฐานะการเงินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาบัญชีเงินฝาก บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน สาขาสลกบาตร เลขที่บัญชี 04 – 2903 – 20 – 031140 – 2 เปิดบัญชีวันที่ 20 ธันวาคม 2542 จำนวนเงิน 105,641.83 บาท มีเงินเข้าฝากทุกเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2544 (03/07/44) จำนวนเงิน 5,000 บาท บางเดือนหลายครั้งและจำนวนมาก เช่น 27/09/44 จำนวนเงิน 40,000 บาท 02/10/44 และ 30/10/44 จำนวน 20,000 บาท และ 38,000 บาท เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2544 เดือนละ 5 ครั้ง เดือนพฤศจิกายน วันที่ 5 จำนวน 22,000 บาท วันที่ 8 และ 12 ฝากครั้งละ 20,000 บาท วันที่ 16 จำนวน 50,000 บาท และวันที่ 28 จำนวน 60,000 บาท และเดือนธันวาคม วันที่ 6 และ 12 ครั้งละ 40,000 บาท วันที่ 17 และ 18 ครั้งละ 10,000 บาท และวันที่ 25 จำนวน 30,000 บาท เดือนมกราคม 2545 ฝาก 4 ครั้ง วันที่ 3, 9, 12 และ 30 จำนวน 54,000 บาท 16,000 บาท 5,000 บาท และ 20,000 บาท และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 จำนวน 50,000 บาท ในบัญชีดังกล่าวมีเงินฝากถึง 689,267.12 บาท บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสลกบาตร เลขที่บัญชี 627 – 1 – 34553 – 0 มีเงินฝากเดือนสิงหาคม 2544 จำนวน 3 ครั้ง ครั้งละ 90,000 บาท 2 ครั้ง และ 10,000 บาท 1 ครั้ง วันที่ 15 ตุลาคม 2544 ฝาก 120,000 บาท และวันที่ 16 มกราคม 2545 ฝาก 104,000 บาท และบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสลกบาตร เลขที่บัญชี 627 – 2 – 05986 – 8 มีเงินฝากมากถึง 500,000 บาท รายได้จากการประกอบอาชีพของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งรายได้จากการขายมีดของนางสำลีไม่น่าเชื่อว่าในแต่ละเดือนจะมีเงินฝากในบัญชีแต่ละบัญชีจำนวนมาก บางเดือนมีเงินเข้าฝากหลายครั้ง และตามบันทึกถ้อยคำของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เอกสารหมาย ร.16 และ ร.17 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 ให้การด้วยว่ารู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 และตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1535/2549 ท้ายฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 2 ทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ประกอบกับศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยเกี่ยวกับฐานะของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ โดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ชอบแล้ว ดังนั้น แม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาที่ 1535/2549 อันเป็นที่สุดให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 แต่ข้อเท็จจริงยังคงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share