คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใดต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและฐานลักทรัพย์ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนความผิดเกี่ยวกับการทำลายพยานหลักฐานไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง แม้จำเลยจะย้ายศพ จ. ผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายก็ตามโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ไม่ได้เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย พนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อหาทำลายพยานหลักฐานจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักในข้อหาทำลายพยานหลักฐาน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวแล้วพิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกจำเลยเกินห้าปีโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (14) ได้นิยามศัพท์คำว่า “โจทก์” ไว้ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 288, 335 (1), 91, 33 ริบมอเตอร์ ปูนซีเมนต์บรรจุถุง เชือก 3 เส้น และผ้าห่ม 1 ผืน ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายสังเวียน พงษ์สิทธิผล บิดาผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 288, 335 (1) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุกตลอดชีวิต ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุก 2 ปี ฐานซ่อนเร้นย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดแต่ละฐานมีกำหนด 25 ปี 1 ปี และ 6 เดือน ตามลำดับ รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 26 ปี 6 เดือน ริบมอเตอร์ ปูนซีเมนต์บรรจุถุง เชือก 3 เส้น และผ้าห่ม 1 ผืน ของกลาง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใด ก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและฐานลักทรัพย์ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนความผิดเกี่ยวกับการทำลายพยานหลักฐานไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง แม้จำเลยจะย้ายศพนายจีระ พงษ์สิทธิผล ผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายก็ตาม โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายในความผิดฐานทำลายพยานหลักฐาน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย พนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อหาทำลายพยานหลักฐานจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักในข้อหาทำลายพยานหลักฐานการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวแล้วพิพากษายืน จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 โจทก์ร่วมจึงไม่อาจฎีกาข้อหาทำลายพยานหลักฐานต่อมาได้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ให้จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ถือเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกจำเลยเกินห้าปี โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (14) ได้นิยามศัพท์คำว่า “โจทก์” ไว้ว่า “หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน” ส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนให้จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน 1 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ดังนี้ ความผิดกระทงดังกล่าวต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานมิได้ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักที่สุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายโดยไม่มีการลดโทษนั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาของโจทก์ร่วมจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เฉพาะที่พิพากษาในข้อหาทำลายพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้ยกฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งหมด

Share