แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่าอย่างไร และเบิกความในชั้นศาลว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าจำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จ โดยอ้างว่าหากข้อความที่จำเลยให้การในชั้นศาลเป็นความจริง ที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ย่อมเป็นเท็จ และหากข้อความที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นความจริงการเบิกความต่อศาลก็ย่อมเป็นเท็จ แสดงว่าโจทก์เองก็ไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไร เป็นฟ้องที่ขัดกันเองอยู่ในตัวไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้องเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “การบรรยายฟ้องในคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานก็ดี ในคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จก็ดี โจทก์จะต้องบรรยายมาในฟ้องโดยชัดแจ้งว่าความจริงเป็นอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อความที่จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานหรือเบิกความต่อศาลนั้นเป็นความเท็จ เพื่อที่จำเลยจะได้เข้าใจข้อหาได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง โดยเฉพาะคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานคือพนักงานสอบสวนและข้อหาเบิกความเท็จต่อศาลในคดีเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าจะต้องมีความจริงอยู่เพียงอย่างเดียวเพียงแต่ว่าความจริงนั้นคืออย่างไรเท่านั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้โดยเพียงแต่กล่าวถึงว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่าอย่างไรและเบิกความในชั้นศาลว่าอย่างไร แล้วมาสรุปว่าจำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือเบิกความเท็จต่อศาล โดยอ้างว่าถ้าหากข้อความที่จำเลยให้การในชั้นศาลเป็นความจริง การที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ย่อมเป็นเท็จ และถ้าหากข้อความที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นความจริง การเบิกความของจำเลยต่อศาลก็ย่อมเป็นเท็จ เช่นนี้แสดงว่าโจทก์เองก็ไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไร จึงได้เลือกบรรยายฟ้องมาในทางที่ว่าความจริงอาจเป็นดังที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน หรือเป็นดังที่จำเลยเบิกความต่อศาลอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขัดกันเองอยู่ในตัว ไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 1806/2523 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี โจทก์ นายอุบล ภาสีราช จำเลย”
พิพากษายืน