คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่าโจทก์ประพฤติตัวไม่ดี เคยมีชู้ ถือได้ว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามความหมายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) โจทก์ถอนคืนการให้ได้และเมื่อจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่พิพาทที่โจทก์ยกให้นั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อไปเพื่อจะไม่ให้โจทก์เรียกคืนโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 หาจำเป็นที่โจทก์จะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมนั้นไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ให้ที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยเสน่หา ให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินแก่โจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ดังที่โจทก์นำสืบมา เฉพาะคำด่าที่ว่าโจทก์ประพฤติตัวไม่ดี เคยมีชู้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ตามความหมายของมาตรา 531(2)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ถอนคืนการให้ได้

ประเด็นข้อที่สอง ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ด่าโจทก์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2521 ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2521 จำเลยที่ 1 ก็ทำนิติกรรมยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยเสน่หา ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 หลังจากจำเลยที่ 1 ด่าโจทก์เพียง 1 เดือน ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ทราบว่านายมานพ ธานินทร์ จะบอกโจทก์ให้ฟ้องเรียกเอาที่พิพาทคืน โดยทราบจากตัวนายมานพ ธานินทร์ เอง จากพฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เพื่อจะไม่ให้โจทก์เรียกคืน โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมให้ดังกล่าวนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ขณะจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ โจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่านับตั้งแต่จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ก็อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องขอเพิกถอนนิติกรรมให้ได้แล้ว หาจำต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังฎีกาไม่”

พิพากษายืน

Share