คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 24/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความหรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ เพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด…”
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องว่า คำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลอุทธรณ์ขัดแย้งกับคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลปกครองกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาระหว่างเจ้าของร่วมในอาคารชุด ส. ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดกับบริษัท ธ. จำกัด จำเลย ซึ่งเป็นผู้ขายตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งผู้ร้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ได้โฆษณาโครงการโดยระบุอย่างชัดแจ้งว่าอาคารชุด ส. ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๓ และ ๔๑๔ และในการขออนุญาตก่อสร้างโครงการอาคารชุดดังกล่าวก็ระบุว่า เป็นการก่อสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๓ และ ๔๑๔ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและผูกพันผู้ร้องให้ต้องปฏิบัติตาม ส่วนคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. ๒๕๒๒ ว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดิน ฯ จดทะเบียนอาคารชุดโดยระบุทรัพย์ส่วนกลาง คือ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๑๓ เพียงแปลงเดียวเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ศาลปกครองกลางจะพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดิน ฯ ไม่จดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๔ เป็นทรัพย์ส่วนกลางชอบด้วยกฎหมายแล้วก็เป็นการวินิจฉัยการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดิน ฯ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. ๒๕๒๒ มิได้ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวผูกพันต้องปฏิบัติตามประกาศโฆษณาโครงการของตนที่ระบุให้โฉนดที่ดินเลขที่ ๔๑๔ เป็นทรัพย์ส่วนกลาง อันเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดิน ฯ ไม่ได้ชี้แจงว่ามีเหตุขัดข้องในการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด หรือหากมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๕ ก็ได้บัญญัติให้อำนาจศาลในคดีดังกล่าวแก้ไขข้อขัดข้องได้ตามความจำเป็นและสมควรแก่กรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม กรณีตามคำร้องของผู้ร้องจึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม อันจะเข้าองค์ประกอบของบทบัญญัติมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่คณะกรรมการจะรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง

Share