คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ใช้สิทธิทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยมากว่า30 ปี โจทก์ย่อมได้ทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งเรียกว่า”ภาระจำยอม” บนที่ดินของจำเลยโดยทางอายุความ เมื่อยังไม่จดทะเบียนจึงเข้าข่ายบังคับของ มาตรา 1299 วรรคสองเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทรงทรัพยสิทธิภาระจำยอมและถูกจำเลยรอนสิทธิ เพียงเท่านี้ก็เป็นฟ้องที่ครบบริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172แล้ว ข้อจำเลยได้รับโอนมาโดยสุจริตหรือไม่ไม่จำเป็นต้องกล่าวเพราะเป็นประเด็นอีกข้อหนึ่งเพิ่มเติมจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าว ต่อเมื่อจำเลยกล่าวอ้างขึ้นก็เป็นประเด็นที่จะต้องนำสืบกันต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 3220 ตำบลศิริราช จังหวัดธนบุรี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2466 และได้ใช้ทางเดินจากบ้านผ่านที่ดินข้างเคียงโฉนดที่ 2787 ออกสู่ถนนสาธารณะมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ดินดังกล่าวตกเป็นภารจำยอมตามแผนที่ท้ายฟ้องประมาณ พ.ศ. 2495 จำเลยได้รับโอนที่ดินโฉนด 2787 และได้ทำการละเมิดปิดกั้นทางเดินในโฉนดที่รับโอนโดยไม่ยอมให้โจทก์เดินออกในทางนั้น จึงขอให้จำเลยเลิกขัดขวางและเรียกค่าเสียหาย

จำเลยต่อสู้ว่าได้รับซื้อที่ดินโฉนดที่ 2787 ไว้โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต ขณะซื้อและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์จำเลยไม่ทราบว่ามีภารจำยอม และต่อสู้อื่น ๆ อีกหลายประการ

โจทก์แถลงรับว่า ภารจำยอมที่โจทก์อ้างยังไม่ได้จดทะเบียน

ศาลแพ่งชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ที่โจทก์ว่าได้ใช้ทางผ่านที่ดินจำเลยมากว่า 30 ปีแม้เป็นความจริงก็เป็นภารจำยอมได้มาโดยทางอายุความ มิใช่ทางนิติกรรมและยังไม่ได้จดทะเบียน เมื่อฟ้องมิได้กล่าวว่าจำเลยรับโอนโดยไม่สุจริตก็ไม่มีประเด็นจะสืบเพื่อเป็นคุณแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยศาลชั้นต้นว่าฟ้องมิได้กล่าวว่ารับโอนโดยไม่สุจริต ประเด็นข้อนี้จึงไม่เกิด แต่เห็นต่อไปว่ากรณีไม่อยู่ในข่ายของมาตรา 1299 วรรคสอง แต่เป็นเรื่องพิพาทกันว่า จำเลยจะมีสิทธิทำให้ภารจำยอมรายนี้สิ้นสภาพไปได้หรือไม่ต่างหาก หากปรับด้วยมาตรา 1299 วรรคสอง ผลก็จะเป็นว่าภารจำยอมอาจต้องสิ้นไปในเมื่อภารยทรัพย์นั้นได้โอนทะเบียนเปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว เว้นเสียแต่ผู้รับโอนจะไม่ได้เสียค่าตอบแทนหรือรู้อยู่แล้วว่ามีภารจำยอมซึ่งถ้ากฎหมายประสงค์เช่นนี้แล้วก็ควรต้องบัญญัติในลักษณะที่ว่าด้วยภารจำยอมให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งจะปรับด้วยมาตรา 1299 วรรคสองไม่ได้ คดีควรได้รับการพิจารณาต่อไปว่า หากภารจำยอมรายนี้มีอยู่ตามฟ้องของโจทก์จริง จะสิ้นสภาพไปเพราะกรรมสิทธิในภารยทรัพย์ได้โอนมาเป็นของจำเลยแล้วหรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่

แต่มีผู้พิพากษานายหนึ่งแย้งว่า เรื่องรับโอนไม่สุจริต โจทก์ไม่ต้องกล่าวในฟ้อง เพราะโจทก์กล่าวไว้แล้วว่าโจทก์มีทรัพย์สิทธิซึ่งกฎหมายรับรองให้มีสิทธิฟ้องร้องผู้ละเมิดสิทธิของตนได้และเป็นคนละเรื่องกับหน้าที่นำสืบ คดีนี้ปรับด้วยมาตรา 1299 วรรคสอง ได้กล่าวคือจำเลยโต้เถียงว่าเมื่อได้รับโอนไม่ทราบว่ามีภารจำยอมแสดงว่ารับโอนโดยสุจริต ดังนี้ก็เกิดประเด็นข้อนี้ขึ้นมาควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่แต่โดยคนละเหตุกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยมากว่า 30 ปี โจทก์ย่อมได้ทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่งเรียกว่า “ภารจำยอม” บนที่ดินของจำเลยโดยทางอายุความ เมื่อยังไม่จดทะเบียนจึงเข้าข่ายบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทรงทรัพย์สิทธิภารจำยอมและถูกจำเลยรอนสิทธิเพียงเท่านี้ก็เป็นที่ครบบริบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว ข้อจำเลยรับโอนสุจริตหรือไม่ ๆ จำเป็นต้องกล่าวเพราะเป็นประเด็นอีกข้อหนึ่งเพิ่มเติมจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวต่อเมื่อจำเลยกล่าวอ้างขึ้นก็เป็นประเด็นที่จะต้องนำสืบกันต่อไปเห็นพ้องตามความเห็นแย้ง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยาน แล้วพิพากษาใหม่

Share