แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ผู้ที่จะถูกเพิ่มโทษได้จะต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก และได้กระทำผิดขึ้นอีกภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษซึ่งวันพ้นโทษก็คือพ้นโทษจำคุกในคดีก่อนนั่นเอง ดังนั้น เมื่อคดีก่อนศาลลงโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้แม้ว่าจำเลยจะมาทำผิดขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตาม ก็เพิ่มโทษมิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันทำร้ายร่างกาย จำเลยที่ ๒เคยต้องโทษจำคุกมาแล้ว ๒ ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ จำคุก ๒ เดือนปรับ ๒๐๐ บาทฐานทำร้ายร่างกาย ศาลรอการลงโทษ ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๑๕๐ บาท ฐานทำร้ายร่างกาย ศาลรอการลงโทษไว้๒ ปี ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๘๓และขอให้นำโทษที่รอของจำเลยที่ ๒ มาบวกและเพิ่มโทษด้วยตามมาตรา ๕๘, ๙๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ผิดจริงให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ ได้กระทำผิดจำคุก ๖ เดือน แต่เพิ่มโทษไม่ได้และได้นำโทษที่รอมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ด้วย
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ ๒
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ ๒
ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้จะถูกเพิ่มโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๒ ต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและได้กระทำผิดขึ้นอีกภายในเวลา ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษจำคุกในคดีก่อนเมื่อในคดีก่อนจำเลยไม่ได้รับโทษจำคุก จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเอาเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษจำเลยได้ และการเพียงแต่รอการลงโทษจำคุกก็ไม่ใช่โทษซึ่งเมื่อครบ ๒ ปี ตามที่รอไว้แล้วจะเป็นการพ้นโทษไปในตัว ทั้งตามมาตรา ๕๘ วรรค ๒ ก็บัญญัติไว้ว่า ถ้าภายในเวลาที่ศาลได้กำหนดตามมาตรา ๕๖ (คือกำหนดให้รอการลงโทษไว้ไม่เกิน ๕ ปี)ผู้นั้นมิได้กระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรกของมาตรา ๕๘ นั้นก็ให้ผู้นั้นพ้นจากการที่จะถูกลงโทษในคดีนั้น ซึ่งก็แสดงอยู่ชัดว่าต้องถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษจำคุก ฉะนั้น จึงไม่มีทางที่จะถือว่าจำเลยที่ ๒ นี้มากระทำผิดขึ้นอีกภายใน ๕ ปีนับแต่วันพ้นโทษทั้งความประสงค์ในการเพิ่มโทษก็อยู่ที่ผู้นั้นได้ทำผิดและถูกลงโทษมาแล้วไม่เข็ดหลาบ มากระทำผิดขึ้นอีกจึงควรเพิ่มโทษ
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์