แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยไว้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันส่งมอบรถยนต์ในสภาพใช้การได้ดีคืนโจทก์ หากไม่ส่งมอบคืนก็ให้ใช้ราคาแทน แม้ในตอนท้ายของคำพิพากษามิได้ระบุว่ารถยนต์จะต้องอยู่ในสภาพเช่นไรก็ตามแต่ก็พึงเป็นที่เข้าใจว่าจะต้องอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีดังที่ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในตอนต้นเพราะการพิจารณาถึงความหมายของคำพิพากษาเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ที่ถูกต้อง จะต้องพิจารณาจากคำพิพากษาทั้งฉบับ ดังนั้น เมื่อรถยนต์ไม่อยู่ในสภาพใช้การได้ดีแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์ ก็เท่ากับจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตรงตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับรถยนต์และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติชำระหนี้ตามคำพิพากษาลำดับที่สองต่อไปได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 600,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดผลประโยชน์ 192,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 192,000 บาท นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้โจทก์อีกเดือนละ8,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบคืนหรือใช้ราคาแทน แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 5 เดือน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 47712, 47714, 47716,47718 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานศาลว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2542 จำเลยที่ 1 แถลงขอส่งมอบรถยนต์พิพาทในสภาพใช้การได้แก่โจทก์ พร้อมชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาและนำค่าเสียหายตามคำพิพากษาไปวางที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดราชบุรีในวันที่ 13 เดือนเดียวกัน วันที่ 28 กันยายน 2542 โจทก์แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าไม่สามารถรับรถยนต์พิพาทได้เพราะรถไม่อยู่ในสภาพใช้การได้ ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม2542 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปวางทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและได้ชำระหนี้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่ากรณียังมีข้อโต้แย้ง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องการถอนการยึดทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ตามคำพิพากษาส่งคืนให้โจทก์โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับรถยนต์ไว้แล้ว ส่วนค่าเสียหายอื่นจำเลยที่ 1 ชำระครบถ้วนแล้ว จึงให้ถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิปฏิเสธไม่รับมอบรถยนต์ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบแก่โจทก์อยู่ในสภาพไม่สามารถใช้การได้ หากโจทก์ยินยอมรับรถยนต์ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เห็นว่าคดีเดิมศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันส่งมอบรถยนต์ในสภาพใช้การได้ดีคืนโจทก์ หากไม่ส่งมอบคืนก็ให้ใช้ราคาแทนพร้อมกับค่าเสียหาย แม้ในตอนท้ายของคำพิพากษาที่พิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์จะมิได้ระบุว่ารถยนต์ที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบแก่โจทก์จะต้องอยู่ในสภาพเช่นไรก็ตาม แต่ก็พึงเป็นที่เข้าใจว่ารถยนต์ที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบแก่โจทก์จะต้องอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีดังที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในตอนต้น เพราะการพิจารณาถึงความหมายของคำพิพากษาเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ที่ถูกต้อง จะต้องพิจารณาจากคำพิพากษาทั้งฉบับ มิใช่แต่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ดังนั้นหากรถยนต์ไม่อยู่ในสภาพใช้การได้ดีแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ก็เท่ากับจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตรงตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับรถยนต์และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติชำระหนี้ตามคำพิพากษาลำดับที่สองต่อไปได้ ทั้งคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540 และออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน ในวันที่ 5 มกราคม 2541 จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับแล้วไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอศาลออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 และมีการยึดทรัพย์จำเลยที่ 1 เพื่อบังคับตามคำพิพากษาวันที่ 30 กันยายน 2541 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงนำรถยนต์มาส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาในวันที่ 7 กันยายน 2542 นับเป็นระยะเวลาปีเศษนับแต่ศาลมีคำบังคับจำเลยที่ 1 จึงเพิ่งนำรถยนต์มาส่งมอบแก่โจทก์ ในชั้นแรกเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจดูรถยนต์แล้วปรากฏว่าไม่มีหมายเลขทะเบียน จึงไม่ทราบว่าเป็นรถยนต์คันเดียวกับที่ศาลมีคำพิพากษาหรือไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์อย่างไม่ดูแลรักษาเพราะแม้กระทั่งทะเบียนรถก็ไม่มีดังนั้น การที่โจทก์ไม่ยอมรับรถยนต์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตรงตามคำพิพากษาเพราะรถยนต์ดังกล่าวไม่อยู่ในสภาพใช้การได้ดี จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลและเป็นการกระทำโดยชอบ ที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งให้โจทก์รับมอบรถยนต์และถอนการยึดทรัพย์จำเลยที่ 1 โดยมิได้ไต่สวนให้ได้ความเสียก่อนว่ารถยนต์จำเลยที่ 1 ส่งมอบแก่โจทก์มีสภาพเช่นไรจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์มีสภาพอย่างไร แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี