คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1931/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดโดยเฉพาะเงื่อนไขข้อที่ไม่ให้ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยไปประกอบอาชีพหรือหน้าที่อื่นใดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่ให้บุคคลดังกล่าวถ่ายทอดความรู้และฝึกสอนช่างภายในประเทศให้สามารถรับช่วงงานได้รวมทั้งการอนุมัติตำแหน่งและกำหนดระยะเวลาการทำงานของคนต่างด้าวต้องผ่านมติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วยเงื่อนไขและขั้นตอนดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดไว้ให้จำเลยปฏิบัติตามในกรณีที่จำเลยรับช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการที่เป็นคนต่างด้าวเช่นโจทก์ไว้ปฏิบัติงานในกิจการของจำเลยซึ่งไม่ปรากฎว่าในการที่จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งหัวหน้าครัวโดยมีหัวหน้าที่จัดการและดำเนินการเกี่ยวกับครัวของโรงแรมจำเลยตลอดมานั้นเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือมติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใดหรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจหน้าที่เข้าไปบริหารกิจการของจำเลยอย่างไรนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและโจทก์คงเป็นไปตามสัญญาซึ่งระบุว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานอันสอดคล้องกับข้อความในสัญญาที่มีการระบุไว้ชัดเจนต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจ้างแรงงานเช่นว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารของโรงแรมหากโจทก์ทุจริตไม่ประพฤติตามคำบังคับบัญชา ประพฤติตัวต่ำทรามผิดกฎระเบียบตามกฎหมายไทยอย่างร้ายแรงหรือกระทำการขัดแย้งต่อผลประโยชน์และภาพพจน์ต่อสาธารณชนของจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ เป็นต้นโจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย แม้ตามสัญญาเอกสารหมายล.6จะระบุให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจบอกเลิกสัญญาได้โดยการแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก็ตามแต่มิได้ระบุว่าให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อใดทั้งการที่โจทก์อยู่ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยครบตามกำหนดที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติเป็นคราวๆไปนั้นหาทำให้สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์จำเลยมีต่อกันสิ้นสุดลงไปด้วยไม่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ตามสัญญาจ้างให้สิทธิแก่จำเลยที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าได้โดยเฉพาะสัญญาจ้างข้อ6มีข้อความว่า”ระยะเวลาของสัญญานี้เริ่มตั้งแต่วันที่15มกราคม2533จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า80วัน”สัญญาข้อนี้ให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ตามที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการโดยไม่จำต้องแสดงเหตุผลแห่งการเลิกจ้างแต่อย่างใดในเมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาแล้วการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายและค่าเดินทางขากลับ รวมเป็นเงิน 2,086,250 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลย ให้การ ขอให้ ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 768,000 บาทค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดโดยเฉพาะเงื่อนไขข้อที่ไม่ให้ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยไปประกอบอาชีพหรือหน้าที่อื่นใด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่ให้บุคคลดังกล่าวถ่ายทอดความรู้และฝึกสอนช่างภายในประเทศให้สามารถรับช่วงงานได้ รวมทั้งการอนุมัติตำแหน่งและกำหนดระยะเวลาการทำงานของคนต่างด้าวต้องผ่านมติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วย จำเลยไม่สามารถบังคับบัญชาการปฏิบัติงานของโจทก์ได้โดยอิสระ การให้คนต่างด้าวรับทำงานฝึกอบรมคนไทยให้ปฏิบัติการแทนได้ดังกล่าวเป็นผลสำเร็จในการจ้าง ข้อสัญญาไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาจ้างทำของนั้น เห็นว่า เงื่อนไขและขั้นตอนดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดไว้ให้จำเลยปฏิบัติตามในกรณีที่จำเลยรับช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการที่เป็นคนต่างด้าวเช่นโจทก์ไว้ปฏิบัติงานในกิจการของจำเลย ซึ่งไม่ปรากฎว่าในการที่จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งหัวหน้าครัวโดยมีหน้าที่จัดการและดำเนินการเกี่ยวกับครัวของโรงแรมจำเลยตลอดมานั้น เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือมติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใดหรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจหน้าที่เข้าไปบริหารกิจการของจำเลยอย่างไร นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและโจทก์คงเป็นไปตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน อันสอดคล้องกับข้อความในสัญญาที่มีการระบุไว้ชัดเจนต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจ้างแรงงาน เช่นว่า โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารของโรงแรมหากโจทก์ทุจริต ไม่ประพฤติตามคำบังคับบัญชา ประพฤติตัวต่ำทรามผิดกฎระเบียบตามกฎหมายไทยอย่างร้ายแรง หรือกระทำการขัดแย้งต่อผลประโยชน์และภาพพจน์ต่อสาธารณชนของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้เป็นต้น ที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยนั้นชอบแล้ว
จำเลยอุทธรณ์ในข้อต่อไปว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน โดยให้เหตุผลว่า แม้ตามสัญญาจะระบุว่าให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจบอกเลิกสัญญาได้โดยการแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก็ตาม แต่ละครั้งที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติให้โจทก์อยู่ปฏิบัติงานต่อไปได้ โจทก์มีส่วนลงนามในเอกสารทุกครั้ง จึงใช้วันเวลาดังกล่าวเป็นวันสิ้นสุดของสัญญาจ้างจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวขัดต่อสัญญาจ้างซึ่งมิได้ระบุว่าให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อใด ทั้งการที่โจทก์อยู่ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยครบตามกำหนดที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติเป็นคราว ๆ ไปนั้น หาทำให้สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ จำเลยมีต่อกันสิ้นสุดลงไปด้วยไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนนั้นชอบแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ในข้อสุดท้ายว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยสิทธิตามสัญญา ซึ่งตามสัญญาเอกสารหมาย ล.6 ระบุให้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 3 เดือนหรือเลือกรับเงินทดแทนเป็นเวลา 3 เดือน แทนการแจ้งเตือนล่วงหน้า เป็นการตกลงค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จำเลยได้ปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 3 เดือนจำเลยไม่จำต้องแสดงเหตุแห่งการเลิกจ้าง จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างให้สิทธิแก่จำเลยที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ โดยเฉพาะสัญญาจ้างข้อ 6 มีข้อความว่า “ระยะเวลาของสัญญานี้เริ่มตั้งแต่วันที่15 มกราคม 2533 จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 80 วัน” สัญญาข้อนี้ให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ตามที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ โดยไม่จำต้องแสดงเหตุผลแห่งการเลิกจ้างแต่อย่างใดในเมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาแล้วการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหาย 300,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share