แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และกรณีที่ผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาที่กำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามหนังสืออนุญาตให้จัดตั้งข่ายสื่อสารในกิจการเพื่อสื่อมวลชน ซึ่งการเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกคำขอในส่วนนี้ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,110,647.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,027,584 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือนในอัตราเดือนละ 1,024 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 532,206 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ธันวาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 597,456 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ธันวาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 กรมไปรษณีย์โทรเลขอนุญาตให้จำเลยจัดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมควบคุมข่ายสื่อสารในกิจการเพื่อสื่อสารมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ความถี่วิทยุ 161.150 MHz เป็นช่องเรียกขาน ความถี่วิทยุ 161.175, 161.200 และ 161.225 MHz เป็นช่องปฏิบัติงานร่วมกันของสื่อมวลชน และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2544 จำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้ความถี่วิทยุ 161.150, 161.175, 161.200 และ 161.225 MHz ระบบ VHF/FM ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 16 KHz ต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขได้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2548 สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้มีหนังสือเตือนให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุในรอบการชำระปี 2548 และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มนับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 จนกว่าจะชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่แล้วเสร็จ ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมีหนังสือแจ้งจำเลยว่าไม่อาจอนุญาตให้จำเลยใช้เฉพาะความถี่วิทยุ 161.150 MHz ได้ พร้อมทั้งแจ้งให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุในรอบปี 2548 และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2553 โจทก์ได้รับโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ และงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 11 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ประกอบมาตรา 97 แห่งพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และมาตรา 161 แห่งพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และในกรณีที่ผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาที่กำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อเดือน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จ ตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และหนังสืออนุญาตให้จัดตั้งข่ายสื่อสารในกิจการเพื่อสื่อมวลชนของกรมไปรษณีย์โทรเลขตามที่จำเลยมีหนังสือขออนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ข้อ 4 ระบุว่า ให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตามประกาศกระทรวงคมนาคม เป็นเงินจำนวน 6,400 บาท ต่อปี และข้อ 5 ระบุว่า ขณะนี้ กรมไปรษณีย์โทรเลขกำลังดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ อาจมีผลทำให้ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ได้รับอนุญาตสูงกว่าจำนวนข้างต้น ซึ่งต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขได้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ หนี้ และงบประมาณให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้โอนมาให้แก่โจทก์ ดังนั้น ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดังกล่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามหนังสืออนุญาตดังกล่าวด้วย และเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินเวลากำหนด จึงต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อกัน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จ ซึ่งการเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นจำนวนที่พอสมควรแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ขอค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ คิดเป็นเดือนละ 1,024 บาท รวม 522 เดือน ศาลชั้นต้นกำหนดให้เดือนละ 75 บาท แม้ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เดือนละ 200 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดมา แต่ยังคงน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับอัตราค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มที่ยังไม่ได้ปรับลด และผลประโยชน์ที่โจทก์อาจได้รับตอบแทนจากเงินค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มเป็นเงินเดือนละ 512 บาท รวม 522 เดือน เป็นเงิน 267,264 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกคำขอในส่วนนี้ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 760,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ธันวาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ