แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดเฉพาะค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการตรวจรับมอบงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ส่วนคดีที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วหรือไม่ อย่างไร การที่ศาลแรงงานภาค 6 ให้นำค่าเสียหายที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์มาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดในคดีนี้จึงไม่ชอบ แต่การที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัท พ. รับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากการก่อสร้างผิดแบบแปลนเป็นมูลกรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการตรวจรับมอบงานเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ดังนั้นหากโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากบริษัท พ. แล้วเพียงใดก็ย่อมทำให้ความรับผิดที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ลดลงตามไปด้วย
คดีของศาลแรงงานกลางมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีสิทธิหักเงินที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ก่อให้เกิดความเสียหายเนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการตรวจรับงานจ้างบกพร่องจากเงินบำเหน็จที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์เมื่อโจทก์เกษียณอายุหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยหักเงินบำเหน็จได้ แต่ค่าเสียหายที่จำเลยนำมาหักจากเงินบำเหน็จของโจทก์ซึ่งเป็นการหักกลบลบหนี้เป็นหนี้ที่จำเลยยังไม่ได้ฟ้องบริษัท พ. ให้รับผิดตามสัญญาจ้าง เป็นหนี้ที่ยังมีข้อโต้แย้งและจำนวนเงินยังไม่แน่นอน จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีดังกล่าวศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกแบบให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกแบบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการตรวจรับงานจ้างบกพร่องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวน 1,347,978.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,111,735.60 บาท นัดถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ 460,714.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กันยายน 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าที่ศาลแรงงานภาค 6 นำค่าเสียหายที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด รับผิดต่อโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 454/2548 ระหว่าง บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โจทก์ บริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด จำเลย จำนวน 887,264.40 บาท มาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดในคดีนี้ชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ตามฟ้องซึ่งก็คือค่าเสียหายจากการจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ให้ปรับปรุงแก้ไขงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเงิน 1,111,735.60 บาท และค่าก่อสร้างงานงวดที่ 5 และที่ 6 ที่บริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด ละทิ้งงานไปสูงกว่าค่าจ้างเดิมเป็นเงิน 530,264.40 บาท รวมเป็นเงิน 1,642,000 บาท แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดเฉพาะค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการตรวจรับมอบงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเงิน 1,111,735.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น ประกอบกับคดีที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด รับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวแล้วหรือไม่ อย่างไร การที่ศาลแรงงานภาค 6 นำเอาค่าเสียหายที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาให้บริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด รับผิดต่อโจทก์จำนวน 887,264.40 บาท มาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดในคดีนี้จึงหาชอบไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดี การที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำพิพากษาให้บริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด รับผิดต่อโจทก์เนื่องจากการก่อสร้างผิดแบบแปลนเป็นเงิน 500,000 บาท นั้น ก็เป็นมูลกรณีสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการตรวจรับมอบงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้ ดังนั้นหากโจทก์ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวจากบริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด แล้วเพียงใด ก็ย่อมทำให้ความรับผิดที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ลดลงตามไปด้วย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 2.4 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 และมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากโจทก์ แต่โจทก์จ่ายเงินบำเหน็จแก่จำเลยที่ 1 ไม่ครบ จำเลยที่ 1 จึงฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 8007/2545 โจทก์ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบ โจทก์จึงมีสิทธิหักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายเงินบำเหน็จ 1,111,735.60 บาท แก่จำเลยที่ 1 ศาลฎีกาพิพากษายืน ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและต้องรับผิดชอบค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบนั้น เป็นประเด็นที่ศาลแรงงานกลางและศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว คำพิพากษาผูกพันคู่ความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เห็นว่า คดีหมายเลขดำที่ 8007/2545 ของศาลแรงงานกลางมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีสิทธิหักเงินที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ก่อให้เกิดความเสียหายเนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการตรวจรับงานจ้างบกพร่องจากเงินบำเหน็จที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์เมื่อโจทก์เกษียณอายุหรือไม่ ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานในกิจการรัฐวิสาหกิจ (ที่ถูก เป็นระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ) มิได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในเรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จเกษียณอายุไว้เป็นการเฉพาะ จึงย่อมเป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐวิสาหกิจนั้น ซึ่งตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จสำหรับผู้ปฏิบัติงานในการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 จำเลยสามารถหักเงินบำเหน็จเพื่อชดใช้ภาระผูกพันหรือค่าเสียหายได้ แต่การนำหนี้สิน ภาระผูกพันหรือค่าเสียหายมาหักจากเงินบำเหน็จถือได้ว่าเป็นกรณีหักกลบลบหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่จะนำมาหักกลบลบหนี้หาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 เมื่อค่าเสียหายที่จำเลยหักจากบำเหน็จของโจทก์เป็นหนี้ที่จำเลยยังไม่ได้ฟ้องบริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด ให้รับผิดตามสัญญาจ้างจึงเป็นหนี้ที่มีข้อโต้แย้งและจำนวนเงินยังไม่แน่นอน จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินจำนวน 1,111,735.60 บาท ของโจทก์ไว้ ศาลฎีกาพิพากษายืน จึงเห็นได้ว่า คดีดังกล่าวศาลมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกแบบให้แก่โจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อสร้างไม่ถูกแบบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 2.3 ว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจรับมอบงานจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์บ้านใหม่ไชยมงคลเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2538 อายุความ 10 ปี ย่อมต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 26 กันยายน 2548 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ เห็นว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสามคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อจำเลยทั้งสามในฐานะลูกจ้างของโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจรับมอบงานจ้างมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องหรือระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ระหว่างการก่อสร้างจนถึงการตรวจรับงานงวดที่ 4 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2539 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2548 จึงยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,111,735.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าหากโจทก์ได้รับชำระค่าเสียหายในส่วนของการก่อสร้างผิดแบบแปลนจากบริษัทพงษ์รังสีก่อสร้าง จำกัด จำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 454/2548 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ แล้วเพียงใดก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น