คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2091/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในชั้นบังคับคดีจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแก้ไขคำพิพากษาตามยอมโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์เพราะถูกโจทก์ฉ้อฉล ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ แม้จำเลยที่ 3 จะระบุไว้ในแบบพิมพ์อุทธรณ์ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น แต่เนื้อหาในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มิได้เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าว แต่เป็นการอ้างว่าจำเลยที่ 3 ถูกโจทก์ฉ้อฉลและขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น หาใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่ง เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แม้จำเลยที่ 3อ้างว่าเพิ่งทราบความจริงว่าโจทก์ฉ้อฉล ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกินกำหนดได้

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าให้ร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจำนวน 1,408,873.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 1,067,940.40 บาท กับหนี้ขายลดเช็คหรือตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่ 30 มกราคม 2525 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 จำนองไว้ออกขายทอดตลาด ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งห้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยทั้งห้ายอมร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ตามระยะเวลาที่กำหนด หากผิดนัดยอมให้โจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนอง ปรากฏรายละเอียดตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 6 ตุลาคม 2525 และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมในวันเดียวกันนั้น
ปรากฏต่อมาว่า จำเลยทั้งห้าผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงขอยึดทรัพย์จำนองซึ่งรวมทั้งที่ดินของจำเลยที่ 3ที่จำนองไว้ด้วยออกขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ในชั้นบังคับคดี จำเลยที่ 3 ยื่นคำแถลงลงวันที่ 28 พฤษภาคม2527 ว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท ตามหนังสือจำนองเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 เพียง 50,000 บาท เท่านั้น จำเลยที่ 3 พร้อมที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ 50,000 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมรับ ขอให้ศาลสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์รับเงิน 50,000 บาทจากจำเลยที่ 3 แล้วให้โจทก์ถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง จำนวน 1,000,000 บาทเศษ จึงจะบังคับให้โจทก์รับเงิน50,000 บาท และปลดจำนองไม่ได้ ให้ยกคำขอของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 24 กันยายน 2527 อ้างว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ เพราะถูกโจทก์ฉ้อฉล โจทก์บอกจำเลยที่ 3 ไว้ว่า ถ้าจำเลยที่ 3 ชำระเงินให้โจทก์ 50,000 บาทตามที่ทำสัญญาจำนองไว้แล้ว โจทก์จะปลดจำนองให้จำเลยที่ 3 จึงได้ลงชื่อในหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ขอให้ศาลสั่งแก้ไขคำพิพากษาตามยอม ให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1ไม่เกิน 50,000 บาท และให้โจทก์ปลดจำนองให้จำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่ใช่กรณีที่คำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 50,000 บาท
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกินกำหนดหนึ่งเดือน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งคำร้อง ของ ศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 กันยายน 2527 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3จะระบุไว้ในแบบพิมพ์อุทธรณ์ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวก็ตาม แต่เนื้อหาในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มิได้เป็นคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว แต่เป็นการอ้างว่าจำเลยที่ 3ถูกโจทก์ฉ้อฉล และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยแท้จริง หาใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งดังที่จำเลยที่ 3 อ้างไม่ ดังนั้นจำเลยที่ 3จึงต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษา ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ส่วนที่จำเลยที่ 3ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เพิ่งจะทราบความจริงว่าโจทก์ฉ้อฉลนั้นก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกินกำหนดได้ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 นั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share