คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2091/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (ฉบับปี พ.ศ. 2477) แต่ตายจากกันเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (ฉบับปี พ.ศ. 2519) แล้ว การแบ่งสินสมรสระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องนำกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งใช้ขณะสมรสมาใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหลานนายจอน สุขศรี ผู้ตายซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกที่นา ๒ แปลง ที่ดินปลูกบ้าน ๒ แปลง ให้แก่โจทก์ ก่อนตายนายจอนได้โอนที่นา ๑ แปลง ตามพินัยกรรมให้โจทก์แล้ว เมื่อนายจอนตาย โจทก์จึงเป็นผู้รับมรดกที่ดินอีก ๓ แปลง ต่อมาจำเลยซึ่งย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้วได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ไปทำการรังวัดที่ดิน ๓ แปลง ตามพินัยกรรมเพื่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินทั้ง ๓ แปลงเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจอน สุขศรี โดยสมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทรัพย์สินทั้งหมดจึงเป็นของนายจอนกับจำเลยร่วมกัน จำเลยไม่เคยยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้โจทก์ จำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองตลอดมา จำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย โจทก์ไปร้องคัดค้านอ้างว่านายจอนทำพินัยกรรมยกให้โจทก์แล้ว พินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นโมฆะเพราะโจทก์ลงชื่อเป็นผู้รับในพินัยกรรมถือว่าเป็นพยานรู้เห็นด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์ครึ่งหนึ่ง ห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นต้น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่พิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์สองในสามส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายจอนกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ นายจอนได้ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงมาในระหว่างเป็นสามีภริยากับจำเลย ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส และนายจอนได้ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า นายจอนตายระหว่างใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายนี้บังคับในเรื่องการแบ่งสินสมรสระหว่างนายจอนกับจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีดังกล่าว ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “บทบัญญัติ บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗” ซึ่งมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า “บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึง (๑) การสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแก่การสมรสนั้นๆ ” ฉะนั้นในกรณีเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสระหว่างนายจอนผู้ตายกับจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ จึงต้องนำเอากฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งใช้ในขณะนั้นมาใช้บังคับเทียบตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๙/๒๔๘๖ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้แบ่งที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นของนายจอนสองในสามส่วนและตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย

Share