แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งเมื่อลูกหนี้ล้มละลายผู้คัดค้านอาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ได้โดยบังคับเอากับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน แล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนหนี้ที่ยังขาดอยู่หรือขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ หรือตีราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(2)(3)(4) ดังนั้นการที่ลูกหนี้จดทะเบียนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่จำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่ผู้คัดค้านให้แก่ผู้อื่นไป และลูกหนี้นำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดไปชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจะบังคับเอาได้ การที่ผู้คัดค้านรับชำระหนี้ส่วนนี้ย่อมไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งมีฐานะเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญเสียเปรียบการกระทำของลูกหนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น แม้จะกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนร้องขอให้ล้มละลาย ก็ไม่อาจเพิกถอนการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองดังกล่าวตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2530 ทางสอบสวนของผู้ร้องได้ความว่าเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 จำเลยกู้เงินไปจากผู้คัดค้านจำนวนเงิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี ครบกำหนดวันที่ 9 พฤศจิกายน 2528 โดยจำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่14683, 14684 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และเมื่อวันที่ 16ธันวาคม 2526 จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านจำนวนเงิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 14.5 ต่อปี ครบกำหนดสัญญาในวันที่ 5 กรกฎาคม 2527 จำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีตลอดมา เมื่อครบอายุสัญญาแล้วจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ให้ผู้คัดค้านจำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านนำที่ดินที่จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกประกาศขายเพื่อนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 30ตุลาคม 2528 ผู้คัดค้านได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14684 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในราคา 130,000 บาท และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2528 ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14683 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในราคา 130,000 บาทแล้วผู้คัดค้านได้นำเงินค่าขายที่ดินที่จำนองทั้งหมด 260,000 บาทไปหักชำระหนี้เงินกู้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 จำนวน 130,000 บาทและเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2528 ได้หักชำระหนี้เงินกู้อีก106,090.67 บาท สำหรับเงินค่าขายที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 23,909.33บาท ผู้คัดค้านได้นำไปหักหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีการชำระหนี้ของจำเลยดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ซึ่งจำเลยได้กระทำการหรือยินยอมให้กระทำการในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนร้องขอให้ล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ที่จำเลยได้กระทำการหรือยินยอมให้กระทำการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นจำนวนเงิน 260,000 บาทเสียกับให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านรับชำระหนี้จากการขายที่ดินของจำเลยซึ่งจำนองไว้เป็นประกันหนี้สินของจำเลยอันมีอยู่กับผู้คัดค้านโดยสุจริต และผู้คัดค้านไม่ทราบว่าจำเลยจะกลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวในภายหลัง เพราะจำเลยยังมีวงเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านซึ่งมีการหมุนเวียนปกติ มีการนำเงินเข้าและหักทอนบัญชีกันตลอดมา จำเลยสามารถขายที่ดินได้ราคาถึง 260,000 บาท เป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่ทางผู้คัดค้านได้รับจำนองไว้ในวงเงินเพียง 200,000 บาท เท่านั้น จึงเป็นประโยชน์แก่จำเลย ผู้คัดค้านอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน มีบุริมสิทธิพิเศษเหนือกว่าเจ้าหนี้สามัญในการรับชำระหนี้ ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น การรับชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการรับชำระหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้เฉพาะส่วน โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 60,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของจำเลย พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ผู้ร้องร้องขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของจำเลย ผู้คัดค้านอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสียทั้งสิ้นผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่6 ธันวาคม 2528 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 และต่อมาได้พิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2530 เมื่อวันที่9 พฤศจิกายน 2527 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14683และ 14684 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้คัดค้านสาขาเพชรบูรณ์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้และหรือหนี้สินประเภทอื่น ๆ ของจำเลยทั้งที่มีอยู่แล้วหรือที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าอันพึงมีต่อผู้คัดค้านเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2528 จำเลยได้จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่14684 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่นางสาวบุญมี บุญแจ้ง ในราคา 130,000บาท และในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2528 จำเลยได้จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14683 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่นางอารีรัตน์ จันทร์เพ็งในราคา 130,000 บาท ผู้คัดค้านนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดไปหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยเป็นหนี้ผู้คัดค้านในวันจดทะเบียนโอน การจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและการหักชำระหนี้ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย และมีเจ้าหนี้อีกสองรายที่ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยอีก 580,000 บาทเศษ ซึ่งจำเลยยังไม่ชำระคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า เงินค่าขายที่ดินจำนองที่เหลืออีก 60,000 บาท หลังจากที่ผู้คัดค้านหักชำระหนี้สัญญากู้เงิน200,000 บาทแล้วนั้น ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 6 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.2 ซึ่งได้ทำขึ้นเมื่อวันที่9 พฤศจิกายน 2527 มีข้อตกลงว่า ลูกหนี้ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้และหรือหนี้สินประเภทอื่น ๆ ของผู้จำนองทั้งที่มีอยู่แล้วในขณะนี้หรือที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้า ดังนี้สัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.2 ย่อมมีผลเป็นการประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 ตามเอกสารหมาย ร.1 และหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ลงวันที่ 16 ธันวาคม2526 ตามเอกสารหมาย ร.5 ด้วย จึงต้องถือว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันในหนี้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวซึ่งเมื่อลูกหนี้ล้มละลายผู้คัดค้านอาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ทั้งสองจำนวนนี้ได้ โดยบังคับเอากับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนหนี้ที่ยังขาดอยู่ หรือขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ หรือตีราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 96(2)(3)(4) ดังนั้นเงิน 60,000 บาท ที่เหลือจากการหักชำระหนี้ตามสัญญากู้แต่ยังไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้ครบถ้วนจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจะบังคับเอาได้ การที่ผู้คัดค้านรับชำระหนี้ส่วนนี้ย่อมไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งมีฐานะเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญเสียเปรียบการกระทำของลูกหนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น จึงไม่อาจเพิกถอนการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้อง ของผู้ร้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน