แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฟ้องว่าจำเลยให้ข่าวหนังสือพิมพ์หมิ่นประมาทโจทก์ ได้ความว่าจำเลยกล่าวแก่นักข่าวของหนังสือพิมพ์พาดพิงถึงโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกล่าวแก่นักข่าวถึงโจทก์ด้วยถ้อยคำว่าอย่างไร จึงเอาคำที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยกล่าวแก่นักข่าวมาลงโทษจำเลยเกินฟ้องไม่ได้ ข้อความที่หนังสือพิมพ์ลงหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่นักข่าวนำไปลงพิมพ์นั้นฟังไม่ได้ว่าจำเลยสมคบร่วมด้วย ข้อความพาดหัวก็ไม่ใช่ถ้อยคำของจำเลย จำเลยมิใช่ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ไม่มีความผิดตาม มาตรา 328
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 จำคุก 3 เดือน ปรับ 2,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในชั้นแรกจำเลยได้มีหนังสือปรับทุกข์ไปยังกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยาม พาดพิงถึงโจทก์ แล้วทางกองบรรณาธิการได้ส่งนายชาญ จันทร์คราญ ซึ่งเป็นนักข่าวกับนายไพโรจน์ ช่างแก้ว ซึ่งเป็นช่างภาพไปพบจำเลยและคุยกันที่ร้านอาหารมาณียาสี่แยกราชประสงค์ แล้วต่อมาหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยามฉบับลงวันที่ 11 และ12 มีนาคม 2518 ได้ลงพิมพ์โฆษณาข้อความอันหมิ่นประมาทโจทก์ ดังปรากฏตามหนังสือพิมพ์ เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ที่โจทก์อ้างส่งศาล
ปัญหาสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยก็คือ จำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่อนายชาญ จันทร์คราญ นักข่าวหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยามด้วยข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว พยานโจทก์ที่รู้เห็นในการกล่าวถ้อยคำของจำเลยคงมีนายชาญ จันทร์คราญ ซึ่งเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เบิกความว่า จำเลยเล่าให้ฟังว่ารองผู้อำนวยการกลั่นแกล้งในหน้าที่การงานโดยกีดกันความก้าวหน้าของจำเลย และเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวว่าโจทก์เคยชวนจำเลยไปเที่ยว จำเลยไม่ยอมไป จำเลยไม่ยอมตามใจโจทก์ โจทก์ก็หาเหตุกลั่นแกล้งและจำเลยเล่าว่าโจทก์ได้พยายามเคลมหญิงแก่ และอีกเรื่องคือโจทก์ช่วยบุคคลภายนอกหรือญาติของโจทก์เข้ามามีหน้าที่ตำแหน่งแทนจำเลย ในการที่พยานเอาไปลงข่าวในหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 นั้น พยานเอามาจากความทรงจำที่ได้รับบอกเล่าจากจำเลยและที่บันทึกไว้ และมีนายไพโรจน์ ช่างแก้ว ซึ่งเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์เบิกความว่า ขณะที่จำเลยกับนายชาญนั่งคุยกันนั้น พยานจับใจความได้ว่าฝ่ายจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกโจทก์กลั่นแกล้งในหน้าที่การงานและยังมีเรื่องชู้สาว โดยโจทก์จีบจำเลยไม่ได้ จึงกลั่นแกล้งจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะฟังว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อนายชาญจันทร์คราญ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังอันเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ เฉพาะส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้แล้ว ปรากฏว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้แต่เพียงว่า จำเลยได้หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยตนเอง หรือและสมคบยินยอมร่วมกับบุคคลอื่นให้มีการโฆษณาข้อความเห็นใส่ร้ายโจทก์ โดยจำเลยได้ให้ข่าวหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยามฉบับลงวันที่ 11 และ 12 มีนาคม เพื่อมุ่งหวังให้โจทก์ได้รับความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง แล้วหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ตีพิมพ์ข้อความอันหมิ่นประมาท โจทก์ตามถ้อยคำของจำเลยอันเป็นเท็จเท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องเลยว่า จำเลยใส่ความโจทก์ โดยให้ข่าวต่อนายชาญ จันทร์คราญ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามด้วยถ้อยคำพูดว่าอย่างไร คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดสารสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และยังเป็นคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำ อันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้องอีกด้วย เมื่อโจทก์มิได้กล่าวในคำฟ้องเลยว่า จำเลยใส่ความโจทก์โดยให้ข่าวต่อนายชาญ จันทร์คราญ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามด้วยถ้อยคำพูดว่าอย่างไรดังนี้แล้ว แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่อนายชาญ จันทร์คราญ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง”
ส่วนที่หนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยามฉบับลงวันที่ 11 และ 12 มีนาคม 2518 ได้ลงพิมพ์โฆษณาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ดังโจทก์ฟ้องนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยกล่าวข้อความต่อนายชาญ จันทร์คราญ แล้วนายชาญ จันทร์คราญ ได้นำข้อความนั้นไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่มีผู้อื่นเป็นบรรณาธิการนั้นยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้สมคบร่วมกับบุคคลอื่นให้มีการโฆษณาข้อความเห็นใส่ร้ายโจทก์ดังโจทก์ฟ้อง ทั้งข้อความบางตอนที่ลงพิมพ์โฆษณาเช่นคำพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์หมาย จ.1 ที่ว่า “รอง ผ.อ. กองสลากวางแผนชั่วบีบแพทย์หญิงเป็นเมีย ไม่สมหวังใช้วิธีตัดอนาคต” ก็ดี คำพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์หมาย จ.2 ที่ว่า “เผยความโสมมรอง ผ.อ. กองสลากเคลมหญิงแก่พาไปหัวหินก่อนเกษียณ” เห็นได้ชัดว่าเป็นถ้อยคำของผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์เองโดยเฉพาะ ไม่ใช่ถ้อยคำของจำเลยที่เล่าให้นายชาญ จันทร์คราญ ฟังดังกล่าวข้างต้น การที่หนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยามได้ลงพิมพ์โฆษณาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328นั้น ผู้กระทำความผิดก็คือผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์นั้น จำเลยไม่ใช่ผู้โฆษณา จำเลยจึงหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ด้วยไม่”
พิพากษายืน