คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์แต่เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ศาลย่อมลงโทษฐานลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 16,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ให้ลงโทษจำคุก 12 ปีและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายลักเอาสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท1 เส้น และพระเลี่ยมทองคำ 3 องค์ รวมราคา 16,000 บาท ของผู้เสียหายไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่โจทก์มีผู้เสียหาย นายสุทธิ ทับทิม และนายสมจิตร มหาพลเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายพบจำเลยได้ชักชวนกันไปรับประทานอาหารและดื่มเบียร์ หลังจากนั้นผู้เสียหายได้ชวนจำเลยไปโรงแรมเพื่อร่วมประเวณีกัน ระหว่างนั้นผู้เสียหายได้ดื่มเบียร์และจำเลยได้ถอนสร้อยคอทองคำกับพระเลี่ยมทองคำไปผู้เสียหายพยายามขัดขืนและลุกขึ้นแต่ไม่อาจขัดขืนได้ เนื่องจากมีอาการง่วงนอน ผู้เสียหายได้นอนหลับไป เมื่อตื่นขึ้นรู้สึกปวดเมื่อยริมฝีปากชา พบว่าสร้อยคอทองคำ 1 เส้น และพระเลี่ยมทองคำหายไป เห็นว่าเหตุเกิดเวลากลางวันผู้เสียหายและพยานโจทก์พบเห็นจำเลยเป็นเวลานาน ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์มีสาเหตุกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้สงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันโดยเฉพาะนายสมจิตรพนักงานโรงแรมเป็นพยานคนกลางเบิกความว่าเห็นจำเลยเดินออกจากห้องพักซึ่งผู้เสียหายกับจำเลยเข้าไปพักโดยอาการพิรุธ คำเบิกความพยานโจทก์ปากนี้จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนพยานจำเลยเป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับจำเลยมาก่อน ไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยมีความผิดฐานใดเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อชิงทรัพย์ โดยใช้ยานอนหลับผสมลงในเครื่องดื่มเบียร์ให้ผู้เสียหายดื่ม ข้อนี้ร้อยตำรวจโทวินิจศรีสูงเนิน เบิกความแต่เพียงว่า ผู้เสียหายมาแจ้งว่าเข้าใจว่าจำเลยใส่ยานอนหลับในเบียร์ให้ดื่มเท่านั้น ไม่มีการส่งตัวผู้เสียหายและเบียร์ของกลางไปให้แพทย์ตรวจแต่อย่างใด ผู้เสียหายก็มิได้ยืนยันว่าจำเลยใช้ยานอนหลับผสมเบียร์ให้ดื่มคงเบิกความแต่เพียงว่ารู้สึกง่วงนอน ปวดเมื่อย และมีอาการชาที่ริมฝีปากเท่านั้นพยานโจทก์จึงไม่พอฟังว่าจำเลยใช้ยานอนหลับผสมเครื่องดื่มเบียร์ให้ผู้เสียหายดื่มอันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อชิงทรัพย์จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องนั้น รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ลงโทษจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share