คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15192/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวระบุว่า ป. กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือที่จำเลยที่ 1 รับจ้างเหมาจากจำเลยที่ 2 แม้สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวจะไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แต่กฎหมายมิได้บังคับให้สัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อมีการเข้าทำงานก่อสร้างในโครงการดังกล่าวบางส่วนและจำเลยที่ 1 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างในส่วนของงานที่ก่อสร้างไปแล้ว หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในส่วนดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้ารับเอาผลงานที่โจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของ ป. เป็นการทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ซึ่งตกลงรับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้อันเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามมาตรา 70 และตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วงให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปหากมีตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้าง เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างก่อสร้างในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรีผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ซึ่งตกลงรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานก่อสร้างดังกล่าวจนสำเร็จประโยชน์ของผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซึ่งทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานพร้อมแบบหล่อคอนกรีตกับจำเลยที่ 2 โดยรับจะดำเนินงานแต่บางส่วนของงานดังกล่าวอันเป็นงานในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงตามบทนิยามในมาตรา 5 ดังนั้น หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานแล้วจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายด้วยตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และมีสิทธิไล่เบี้ยเงินค่าจ้างที่จ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดคืนจากจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 12 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องในทำนองเดียวกันขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 คนละ 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ทุกสำนวนขาดนัด
จำเลยที่ 2 ทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีนายประสิทธิ์ และนางสาวศิรินทรา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามหนังสือรับรอง จำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างก่อสร้างในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือบ้านแหลมทรายจากองค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี ตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ 2 จึงได้ทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานพร้อมแบบหล่อคอนกรีต ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือบ้านแหลมทราย โดยสัญญาดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ซึ่งในวันเดียวกันนี้นายประสิทธิ์กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานเป็นลูกจ้างโดยมีเนื้อความในสัญญาระบุว่า นายประสิทธิ์กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าปฏิบัติงานในหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อทำงานที่หน่วยงานก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านแหลมทรายขององค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี มีกำหนด 5 เดือน นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2554
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ยุติตามสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว ระบุว่า นายประสิทธิ์ กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือบ้านแหลมทราย ซึ่งจำเลยที่ 1 รับจ้างเหมาตามสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานพร้อมแบบหล่อคอนกรีต จากจำเลยที่ 2 จะไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แต่กฎหมายมิได้บังคับให้สัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่ามีการเข้าทำงานก่อสร้างตามที่จำเลยที่ 1 รับจ้างเหมาจากจำเลยที่ 2 บางส่วน และจำเลยที่ 1 มีหนังสือทวงถาม ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างในส่วนของงานที่ก่อสร้างไปแล้ว หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในส่วนดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้ารับเอาผลงานที่โจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของนายประสิทธิ์เป็นการทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 จำเลยที่ 1 ก็ย่อมเป็นผู้ซึ่งตกลงรับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้อันเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ดังนั้นหากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานตามสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว จำเลยที่ 1 ก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตามมาตรา 70 และตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วงให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปหากมีตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างและเงินอื่นตามที่บัญญัติไว้ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างก่อสร้างในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือบ้านแหลมทรายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรีตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ซึ่งตกลงรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานก่อสร้างดังกล่าวจนสำเร็จประโยชน์ขององค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรีผู้ว่าจ้าง จึงเป็นผู้รับเหมาชั้นต้น ตามบทนิยามในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซึ่งทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานพร้อมแบบหล่อคอนกรีตกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโดยรับจะดำเนินงานแต่บางส่วนของงานดังกล่าวอันเป็นงานในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรีผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับเหมาช่วงตามบทนิยามในมาตรา 5 ด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตามมาตรา 70 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายด้วยตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และมีสิทธิไล่เบี้ยเงินค่าจ้างที่ได้จ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดคืนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างตามมาตรา 12 วรรคสอง อย่างไรก็ตามแม้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดจะได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างจ่าย แต่ศาลแรงงานภาค 8 ยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่าแท้จริงแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานตามฟ้องจริงหรือไม่ เป็นระยะเวลาที่ทำงานจริงคิดเป็นจำนวนชั่วโมงและจำนวนวันแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับค่าจ้างอัตราเท่าใด จำเลยที่ 1 ค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ และหากค้างจ่ายจริงจำนวนเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายมีเท่าใด จึงยังไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวไปวินิจฉัยปัญหานี้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดได้ เห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานและการค้างจ่ายค่าจ้างข้างต้นเสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8 ให้ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดและการค้างจ่ายค่าจ้างดังกล่าว แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share