คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่มีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าการพิจารณาขึ้นค่าจ้างตามข้อตกลง ให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใช้ดุลพินิจพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่พนักงานลูกจ้างของจำเลยตามสภาพความเป็นจริงได้ จำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ และแม้ข้อตกลงจะใช้ถ้อยคำว่า “จะได้รับการพิจารณาขึ้นค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง” ก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวก็มีความหมายว่าจำเลยจะต้องพิจารณาว่าลูกจ้างคนใดมีผลงานประเมินอย่างไร อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการขึ้นค่าจ้างหรือไม่ หากอยู่ในเกณฑ์ ได้รับการขึ้นค่าจ้างค่าจ้างที่ปรับขึ้นเป็นจำนวนเท่าใดเท่านั้น มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่จำเลยที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเดือนละ 102 บาท นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไป และให้จ่ายเงินค่าจ้างส่วนที่ขาดไปของเดือนกรกฎาคม 2541 จำนวน 102 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยประสบภาวะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนต้องลดต้นทุนและลดจำนวนพนักงานลง จึงพิจารณาไม่ขึ้นค่าจ้างแก่โจทก์และผลการประเมินผลงานของโจทก์มิได้อยู่ในระดับเกรดซี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 102 บาท นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังขาดประจำเดือนกรกฎาคม 2541 จำนวน 102 บาท แก่โจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ประมวลระเบียบข้อบังคับพนักงานของจำเลย ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จล.1 นั้น ให้อำนาจจำเลยเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่พนักงานของจำเลยตามสภาพความเป็นจริง กล่าวคือเมื่อจำเลยประสบภาวะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดทุน ขาดสภาพคล่อง จำเลยมีสิทธิที่จะไม่พิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่พนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลระเบียบข้อบังคับพนักงานของจำเลย ตามหนังสือแสดงการยอมรับเอกสารหมาย จล.1 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยและลูกจ้างของจำเลยได้กำหนดระเบียบการขึ้นค่าจ้างไว้ในข้อที่ 6 โดยระบุว่า 6.1 การขึ้นค่าจ้างตามเวลาที่กำหนดพนักงานตั้งแต่ระดับหัวหน้าผู้ควบคุมงาน (CHIEF FOREMAN) ลงมาจะได้รับการพิจารณาขึ้นค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 21 มิถุนายนและวันที่ 21 ธันวาคม ของทุกปี แต่ต้องเป็นผู้ที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 6 เดือนขึ้นไปข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นข้อตกลงที่จำเลยและสหภาพแรงงานไทยฟิลาเมนต์เท็กซ์ไทล์ได้ร่วมกันพิจารณาและตกลงร่วมกัน จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทั้งสองฝ่ายคือ นายจ้างและลูกจ้างจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดฉะนั้นเมื่อข้อตกลงไม่มีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า การพิจารณาขึ้นค่าจ้างตามข้อตกลงในข้อ 6.1 นี้ ให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใช้ดุลพินิจพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่พนักงานลูกจ้างของจำเลยตามสภาพความเป็นจริงได้จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ และแม้ว่าข้อตกลงจะใช้ถ้อยคำว่า “จะได้รับการพิจารณาขึ้นค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง” ก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวก็มีความหมายว่าจำเลยจะต้องพิจารณาว่าลูกจ้างคนใดมีผลงานประเมินอย่างไร อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการขึ้นค่าจ้างหรือไม่ หากอยู่ในเกณฑ์ได้รับการขึ้นค่าจ้าง ค่าจ้างที่ปรับขึ้นเป็นจำนวนเท่าใดเท่านั้นมิใช่เป็นการให้อำนาจแก่จำเลยที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ ก็ได้ตามที่จำเลยอ้าง หากในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลใช้บังคับอยู่นั้น จำเลยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กิจการขาดทุนและจำเลยต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าว จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยการแจ้งข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเสียก่อนเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งข้อเรียกร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามประมวลระเบียบข้อบังคับพนักงานจำเลยตามเอกสารหมาย จล.1 คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share