แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และทนายความไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสองก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายโจทก์ที่ 1 ผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องเป็นทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วย อนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขข้อบกพร่องในคำฟ้องแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าของที่ดินถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 เป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินอื่นจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อที่ดินของจำเลยที่ 1 แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดที่ 1003 ไปก่อนแล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ที่เหลืออีกครั้งหนึ่ง ทำให้ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งสามในเวลาต่อมาไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยที่ที่ดินนี้เดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกร้องเพื่อผ่านที่ดินเฉพาะแปลงที่แบ่งแยกในครั้งหลังสุดเพื่อออกสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางลาดยางในที่ดินโฉนดเลขที่ 15632, 15633 และ 3991 ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมหรือทางสาธารณะ หากจำเลยทั้งสี่เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ขอให้จำเลยทั้งสี่เคลื่อนย้ายเฟืองเหล็กที่นำมาปิดกั้นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2538 อ้างว่า ช่องโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ในคำขอท้ายฟ้องมีเพียงทนายโจทก์ที่ 1 เท่านั้นลงลายมือชื่อ ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 หรือทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอวินิจฉัยปัญหาตามคำร้องพร้อมกับคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งนายธวัชเป็นทนายความ และนายธวัชลงลายมือชื่อในคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งในช่องโจทก์ผู้เรียงพิมพ์ จึงถือว่ามีการแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและพิพากษาว่า ทางลาดยางบนที่ดินเป็นทางจำเป็นและให้จำเลยที่ 1 เคลื่อนย้ายเฟืองเหล็กที่นำมาปิดกั้นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ทั้งสาม คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสี่ให้ตกเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15632, 15633 ที่ดินจำเลยที่ 1 อยู่หน้าที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตัวโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์แผ่นคำขอท้ายฟ้อง และทนายโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2538 ขอให้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว แต่ในวันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งนายธวัชทนายโจทก์ที่ 1 เป็นทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วย เห็นว่า แม้คำฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และทนายความไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายโจทก์ที่ 1 ผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องเป็นทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วย อนุโลมได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขข้อบกพร่องในคำฟ้องโจทก์แล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนปัญหาที่ว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ไปสู่ทางสาธารณะได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ที่ให้เจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ สามารถใช้สิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้นั้นเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินอื่นจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อที่ดินของจำเลยที่ 1 แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ไปก่อนแล้ว ต่อมาจึงมีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ที่เหลืออีกครั้งหนึ่งในวันที่ 12 มีนาคม 2523 ซึ่งผลการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมครั้งนี้ทำให้ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งสามในเวลาต่อมาไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกร้องเพื่อผ่านที่ดินเฉพาะแปลงที่แบ่งแยกในครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2523 เพื่อออกสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ออกสู่ทางสาธารณะ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ให้โจทก์ทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.