คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 27 บัญญัติว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 114 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน… และมาตรา 34 บัญญัติว่า บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล หรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 เดิม ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 บัญญัติว่า การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะแสดงให้พอใจศาลว่าการโอนหรือการกระทำนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2542 ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2542 เป็นต้นไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม 2538 ส่วนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสองกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2536 และผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย คดีนี้จึงเป็นคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 จะมีผลใช้บังคับ คดีระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงต้องใช้บทบัญญัติตามมาตรา 114 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 จะมีผลใช้บังคับ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2538 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15416 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 9/8 โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากผู้คัดค้านทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 3,214,505 บาท
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15416 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 9/8 โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากผู้คัดค้านทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 3,214,505 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายต่อไป แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานใหม่แล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15416 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 9/8 โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากผู้คัดค้านทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ผู้คัดค้านทั้งสองชดใช้ราคาเป็นเงิน 3,214,505 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เดิมจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 15416 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 9/8 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยทำสัญญากู้เงิน 3,000,000 บาท จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 3,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี มีนายปธาน สามีจำเลยซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสทำสัญญาค้ำประกันในวงเงิน 3,000,000 บาท ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสำเนาสัญญากู้เงินพร้อมสำเนาบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สำเนาสัญญาค้ำประกันเงินกู้ สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน และสำเนาสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันในวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดน้อย เช็คเลขที่ 3251254 จำนวนเงิน 1,806,633.74 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2536 อันอยู่ในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย (โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538) จำเลยได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15416 ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 9/8 ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองในราคา 1,500,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรสะใภ้ของนายปธาน คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้มอบอำนาจให้นายสมชัย บุตรชายโดยชอบด้วยกฎหมายของนายปธานที่เกิดแต่นางประภาพร ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายปธานเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจดทะเบียนโอนแทน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทมีราคาประเมินของสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี คิดเป็นเงิน 3,214,505 บาท ตามรายงานเจ้าหน้าที่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองข้อแรกมีว่า นิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสองอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 เดิม ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 มาตรา 27 หรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า คดีต้องใช้บังคับตามมาตรา 114 ที่แก้ไขใหม่ มิใช่มาตรา 114 เดิม เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 27 บัญญัติว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน… และมาตรา 34 บัญญัติว่า บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล หรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 เดิม ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 บัญญัติว่า การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้ เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะแสดงให้พอใจศาลว่าการโอนหรือการกระทำนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2542 ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2542 เป็นต้นไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม 2538 ส่วนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสองกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2536 และผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย คดีนี้จึงเป็นคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 จะมีผลใช้บังคับ คดีระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงต้องใช้บทบัญญัติตามมาตรา 114 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 จะมีผลใช้บังคับ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองที่ว่าคดีนี้ต้องใช้บทบัญญัติตามมาตรา 114 ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 มาตรา 27 จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share