คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และตามมาตรา 392 บัญญัติว่า การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อยังครอบครองรถยนต์อยู่ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย
ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้ผู้ค้ำประกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แต่วินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นฟังว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาแท้จริงเท่าใด และกำหนดให้ผู้ค้ำประกันใช้ราคาแทนตามจำนวนดังกล่าวหากผู้ค้ำประกันไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบและเหมาะสมแล้ว ผู้ค้ำประกันมิได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าราคารถยนต์ที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ค้ำประกันชดใช้แทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนสูงเกินไปหรือไม่ ถูกต้องอย่างไรแต่กลับฎีกาว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เพราะหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนี้ฎีกาของผู้ค้ำประกันมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
สัญญาเช่าซื้อมิได้ระบุถึงการสิ้นสุดของสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อจึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและให้ผู้ค้ำประกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน หากไม่สามารถส่งมอบคืนให้ใช้ราคาแทน เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ใช้สิทธิในฐานะลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียกเอารถยนต์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดครอบครองรถยนต์ของลูกหนี้ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการใช้สิทธิเช่นนี้ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายความได้สิทธิ ส่วนค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนพานิชจำกัด ลูกหนี้เด็ดขาด ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้คัดค้านมีหนังสือลงวันที่ 11 มีนาคม 2540 แจ้งยืนยันหนี้ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันผู้เช่าซื้อรถยนต์ของลูกหนี้ส่งมอบรถยนต์ ยี่ห้อซีต้า หมายเลขทะเบียน 11-3348 กรุงเทพมหานครที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 11,760 บาทนับแต่วันผิดนัด (31 ธันวาคม 2533) จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนเสร็จ หากไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนให้ใช้ราคา 887,138 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 882,000 บาท นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน

ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 450,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน และให้ใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้คัดค้านแต่ไม่เกิน 48 เดือน

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้คัดค้านมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและแจ้งให้ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อส่งมอบรถยนต์ ยี่ห้อซีต้า หมายเลขทะเบียน 11-3348 กรุงเทพมหานคร ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีและใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 11,760 บาท นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืน หากไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนให้ใช้ราคา 887,138 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 882,000 บาท นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องปฏิเสธหนี้ ผู้คัดค้านสอบสวนแล้ว เห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้ตามจำนวนที่ทวงถาม จึงมีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ให้ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ยต่อผู้คัดค้านที่ผู้ร้องฎีกาข้อแรกว่า ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เพราะนายสมชาย ม่วงสุวรรณ ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่31 ธันวาคม 2533 ลูกหนี้ให้นายสมชายทำสัญญากู้เงิน 316,000 บาท จากลูกหนี้เพื่อแปลงหนี้ใหม่ โดยมีนายสำอางค์ ฟักแฟง และพลตำรวจฉัตรชัย นพรัตน์ เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษาให้นายสมชาย นายสำอางค์ และพลฯ ฉัตรชัย ร่วมกันชำระเงินกู้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7639/2535 นั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของผู้ร้อง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสัญญากู้เงินมีมูลหนี้มาจากสัญญาเช่าซื้อ ทั้งจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินก็แตกต่างจากยอดหนี้ที่ค้างชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออย่างมาก รวมทั้งเงื่อนไขในการผ่อนชำระหนี้ด้วย ประกอบกับนายสมชายผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2533 แต่ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินปรากฏว่านายสมชายกู้เงินจากลูกหนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2533 ขณะนั้นนายสมชายยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จึงไม่มีเหตุผลที่ลูกหนี้จะให้นายสมชายทำสัญญากู้เงินเพื่อแปลงหนี้จากสัญญาเช่าซื้อ ทั้งตามสัญญากู้เงินไม่มีข้อความใดที่พออนุมานได้ว่ามีมูลหนี้มาจากสัญญาเช่าซื้อ ส่วนสำเนาหนังสือสัญญาค้ำประกันก็ระบุชัดแจ้งว่าเป็นการค้ำประกันการกู้เงินที่นายสมชายกู้เงินจากลูกหนี้มิใช่เป็นการค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7639/2535 ที่ลูกหนี้ฟ้องนายสมชาย นายสำอางค์ และพลตำรวจฉัตรชัยให้ร่วมกันชำระเงินกู้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวว่าหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นการแปลงหนี้มาจากสัญญาเช่าซื้อ หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงหาได้ระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ไม่ ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ที่ผู้ร้องฎีกาข้อสองว่า ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด เพราะสัญญาเช่าซื้อเลิกกันและมิได้เกิดความเสียหายนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่นายสมชายและผู้ร้องเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2539สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา และเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และตามมาตรา 392 บัญญัติว่า การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญติแห่งมาตรา 369 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนผู้คัดค้านจึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ตลอดเวลาที่นายสมชายยังครอบครองรถยนต์อยู่ ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด

ที่ผู้ร้องฎีกาข้อสามว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคา 450,000 บาท นายสมชายชำระเงินไปแล้ว 387,000 บาท ยังคงค้างชำระอยู่อีก 63,000 บาท ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้เพราะหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แต่วินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นฟังว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาแท้จริง 450,000 บาท และกำหนดให้ผู้ร้องใช้ราคาแทนตามจำนวนดังกล่าวหากผู้ร้องไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนแก่ผู้คัดค้านชอบและเหมาะสมแล้วผู้ร้องมิได้ฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าราคารถยนต์ที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องชดใช้แทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนสูงเกินไปหรือไม่ถูกต้องอย่างไร แต่กลับฎีกาว่าผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เพราะหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนี้ฎีกาของผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่ผู้ร้องฎีกาข้อสุดท้ายว่า สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อขาดอายุความเพราะผู้คัดค้านมิได้บังคับภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันผิดนัดนั้น เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ร.1 หรือ ค.1 มิได้ระบุถึงการสิ้นสุดของสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อจึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา ผู้คัดค้านบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่นายสมชายและผู้ร้องเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2539 การที่ผู้คัดค้านบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและให้ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน หากไม่สามารถส่งมอบคืนให้ใช้ราคาแทนเป็นเรื่องผู้คัดค้านซึ่งมีอำนาจจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ใช้สิทธิในฐานะลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียกเอารถยนต์คืนจากผู้ร้องผู้ไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองรถยนต์ของลูกหนี้ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการใช้สิทธิเช่นนี้ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ กรณีไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบของอันจะมีอายุความ 2 ปี ดังที่ผู้ร้องฎีกา ส่วนค่าเสียหายอันเกิดจากการที่นายสมชายและผู้ร้องไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share