คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสามเป็นค่าเสียหายที่แต่ละคนได้รับแม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมา แต่จำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องต้องถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน โจทก์ที่ 3 เรียกค่าเสียหาย 30,000 บาทเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าศาลล่างพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสามสูงเกินไปนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคแรก จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ส. คนขับรถลูกจ้างโจทก์ที่ 1 ขับรถโดยประมาท โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้องแย้งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งมีจำนวนเพียง 22,500 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของ ส. จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบว่า คนขับรถของโจทก์ที่ 1 ประมาทอย่างไรที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผล พิพากษายืนเช่นนี้ แม้ศาลล่างทั้งสองจะมิได้พิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 แต่ก็พอแปลจากคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ว่า ศาลล่างทั้งสองได้พิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2ในข้อนี้จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคแรก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามนั่งรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 โดยมีนายโสภณเป็นผู้ขับด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด และระมัดระวังโดยขับชิดด้านซ้ายของถนน เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุนายไพโรจน์ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างโดยจำเลยที่ 1 นั่งควบคุมมาด้วย บนเส้นทางฝั่งตรงกันข้ามกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหักพวงมาลัยเลี้ยวขวาเพื่อจะเข้าซอยซึ่งอยู่ตรงกันข้ามโดยกะทันหันไม่ได้เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาและมิได้ระวังว่าจะมีรถสวนทางมาหรือไม่ เป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ในทางเดินรถของโจทก์ที่ 1 ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหาย นายโสภณถึงแก่ความตาย และโจทก์ทั้งสามได้รับอันตรายสาหัสคิดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 รวม 340,000 บาท โจทก์ที่ 2 รวม 60,000 บาท และโจทก์ที่ 3 รวม 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 451,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้โดยสารมาในรถยนต์คันดังกล่าวนายโสภณขับรถยนต์ด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและขับอยู่ชิดเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนโดยไม่ขับรถให้ชิดขอบทางตามกฎหมาย พุ่งเข้าชนหน้ารถยนต์บรรทุกที่นายไพโรจน์จอดอยู่อย่างแรงเป็นเหตุให้นายโสภณถึงแก่ความตาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน เหตุครั้งนี้จึงเกิดจากการขับรถโดยความประมาทของนายโสภณแต่เพียงฝ่ายเดียว ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1หากมีอยู่จริงก็ไม่เกิน 5,000 บาท โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าทนทุกข์ทรมาน รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 สามารถซ่อมให้ดีดังเดิมได้ไม่เกิน 50,000 บาท ค่าพาหนะเนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 6,000 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้รับบาดเจ็บ หากค่าเสียหายส่วนนี้มีจริงก็ไม่เกินคนละ 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกจากจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์และเป็นนายจ้างหรือตัวการที่ว่าจ้างหรือใช้สอยนายโสภณโจทก์ที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่นายโสภณก่อให้เกิดขึ้นเหตุที่รถยนต์บรรทุกชนกับรถยนต์เป็นเพราะความประมาทของนายโสภณแต่เพียงผู้เดียว โดยนายโสภณขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงพุ่งเข้าชนด้านหน้ารถยนต์บรรทุกที่นายไพโรจน์จอดอยู่เต็มแรง เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกเสียหาย ความเสียหายของโจทก์ทั้งสามมีจำนวนไม่ถึงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง และเป็นฟ้องเคลือบคลุม หากจะมีการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับโจทก์ทั้งสามจริงก็ไม่ควรเกินคนละ5,000 บาท รถยนต์สามารถซ่อมและใช้การได้ดีเหมือนเดิม ไม่เกิน100,000 บาท จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกไว้ในประเภทประกันภัยค้ำจุน ซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในวงเงินไม่เกินคนละ 50,000 บาท สำหรับกรณีได้รับบาดเจ็บ และวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมแซมรถยนต์บรรทุก20,500 บาท ค่าลากจูงรถเพื่อนำไปซ่อม 2,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22,500 บาท แก่จำเลยที่ 2 พร้อมทั้งดอกเบี้ยกับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม
โจทก์ที่ 1 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 มิได้เป็นนายจ้างหรือผู้ใช้นายโสภณให้ขับรถยนต์ จำเลยที่ 2 บรรยายฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ฐานะหนึ่ง และเป็นนายจ้างหรือเป็นตัวการที่ได้ว่าจ้างหรือใช้นายโสภณอีกฐานะหนึ่ง เป็นคำฟ้องที่กล่าวไม่แน่นอนถึงฐานะของโจทก์ จึงเป็นฟ้องแย้งที่เคลือบคลุม เหตุที่รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ชนกับรถยนต์เก๋งของโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของนายไพโรจน์แต่ผู้เดียว ความเสียหายของจำเลยที่ 2 ที่กล่าวมาในฟ้องแย้งไม่เป็นความจริง รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยค่าซ่อมแซมไม่เกิน 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสาม 217,235 บาท โดยให้โจทก์ที่ 1 ได้รับ 164,445 บาทโจทก์ที่ 2 ได้รับ 40,000 บาท โจทก์ที่ 3 ได้รับ 12,790 บาทพร้อมดอกเบี้ย เฉพาะโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในวงเงิน114,445 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารเชื่อมโยงสอดคล้องกันสมเหตุผลมีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งขัดแย้งกันและขัดต่อเหตุผลจึงฟังได้ว่าเหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของนายไพโรจน์คนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถเข้าไปชนรถยนต์เก๋งของโจทก์ที่ 1 ในทางเดินรถของโจทก์ที่ 1
ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อไปว่า ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามสูงเกินไปนั้น เห็นว่าค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสามเป็นค่าเสียหายที่แต่ละคนได้รับแม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมา แต่จำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องต้องถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 เรียกค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท และค่าทนทุกข์ทรมานเนื่องจากไม่สามารถประกอบกรณียกิจได้เกินกว่า 20 วัน เป็นเงิน10,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งหมด 30,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่าที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้นั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่ารถยนต์เก๋งของโจทก์ที่ 1 พังยับเยินเสียหายอย่างมากและโจทก์ทั้งสองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส ศาลล่างใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า นายโสภณคนขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 ขับรถประมาท โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้องแย้งนั้นเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฏว่าทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งมีจำนวนเพียง 22,500 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สำหรับค่าเสียหายของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องแย้ง เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของนายโสภณ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายตามฟ้องแย้งและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบว่า คนขับรถของโจทก์ที่ 1 ประมาทอย่างไร ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผลพิพากษายืน แม้ศาลล่างทั้งสองจะมิได้พิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 แต่ก็พอแปลจากคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ว่าศาลล่างทั้งสองได้พิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2ในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.

Share